เบญจมาศ ดอกไม้สวยหลากสีสัน ชมความงามได้ตลอดปีแบบไม่มีเบื่อ

เบญจมาศ
สารบัญบทความ
เบญจมาศ

หนึ่งในประเภทของไม้ดอกที่ให้ความสวยงามมาพร้อมกับสีสันหลากหลายจากสายพันธุ์ที่แตกต่าง ชื่อของ “เบญจมาศ” คือความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ ทุกคนสามารถชื่นชมความงามของดอกไม้ชนิดนี้ได้ตลอดทั้งปี ปกติแล้วจะนิยมปลูกไว้ในสวนตามบ้านเรือน สถานที่ทั่วไปมักนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ฟอกอากาศรวมถึงบางแหล่งยังมีการใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคด้วย ลองมาศึกษาเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนี้อย่างละเอียดกันเลยดีกว่า

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับดอกเบญจมาศ

ดอกเบญจมาศ มีชื่อสามัญว่า Edible Chrysanthemum หรือบางแห่งก็เรียก Florist Chrysanthemum, Chrysanthemums ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Chrysanthemum Morifolium Ramat จัดอยู่ในวงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE) ขณะที่ชื่อท้องถิ่นจะถูกเรียกแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะของสายพันธุ์และการออกดอก เช่น ภาคกลางอาจเรียกบางสายพันธุ์ว่าเบญจมาศหนู เบญจมาศสวน คนเชื้อสายจีนหรือสายพันธุ์ที่ออกดอกสีเหลืองขาวมีชื่อเรียกเป็น “ดอกเก๊กฮวย” ขณะที่คนเงี้ยวหรือคนแม่ฮ่องสอนก็มีคำเรียกว่า “ดอกขี้ไก่” เป็นต้น

ถิ่นกำเนิดของต้นเบญจมาศอยู่ในประเทศจีนซึ่งชาวจีนโบราณมีการปลูกเพื่อใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสตกาล กระทั่งในช่วงยุคศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ดอกไม้ชนิดนี้จะเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นส่งผลให้มีการพัฒนาสายพันธุ์และได้รับความนิยมในการปลูกมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ยังมีการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ อีกเยอะมาก เช่น ไทย อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งในเมืองไทยส่วนมากมักปลูกกันตามภาคเหนือและภาคกลาง

ด้านที่มาของชื่อสามัญเคยมีประวัติว่านอกจากการปลูกในประเทศจีนและญี่ปุ่นมายาวนานกว่าพันปี ในแถบยุโรปตะวันออกเฉียงเหนือก็มีการค้นพบดอกไม้ชนิดนี้อยู่ด้วย จึงมีการตั้งชื่อว่า Chrysanthemum เป็นคำที่แปลจากภาษากรีก หมายถึง “ดอกไม้ทองคำ” นั่นจึงทำให้ในภาษาอังกฤษก็มีคำเรียกดอกเบญจมาศว่า “Mum” หรือ ดอกมัม ด้วยนั่นเอง

ดอกเบญจมาศ

ประเภทและสายพันธุ์ของดอกเบญจมาศที่ได้รับความนิยม

สมาคมดอกเบญจมาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ US National Chrysanthemum Society ได้มีการจำแนกดอกเบญจมาศตามลักษณะของดอก สีสัน และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง แบ่งออกได้ 13 ประเภท ดังนี้

  • Irregular Incurve ออกดอกเป็นช่อกลมขนาดใหญ่ ช่อดอกโค้งเข้าด้านใน ปลายดอกหักลงคล้ายกระโปรง
  • Regular Incurve จะคล้ายกับดอกแบบแรก แต่ขนาดดอกเล็กกว่า ทรงกลมเกือบสมบูรณ์
  • Reflex กลีบดอกบานไม่สม่ำเสมอและมักบานหงานหันออกไปด้านนอก ลักษณะคล้าย ๆ กับไม้ม็อบถูพื้น
  • Decorative ตอนบานจะคล้ายกับ Reflex แต่ดอกย่อยด้านในถูกบังปิดและทำมุมกับลำต้นไม่เกิน 90 องศา
  • Intermediate Incurve ถูกจัดให้อยู่ระหว่าง Irregular และ Regular incurve ทั้งเรื่องขนาดและลักษณะการออกดอก แต่ดอกย่อยจะกว้างกว่าเรียงตัวกันแบบหลวม ๆ
  • Pompon ดอกจะมีขนาดเล็กลักษณะเกือบเป็นทรงกลม มักบานซ้อนกันคล้ายกับพู่
  • Single/Semi-Double ดอกย่อยข้างในบานสะพรั่งเห็นชัดเจนประมาณ 1-7 แถว ทำมุมไม่เกิน 90 องศากับลำต้น
  • Anemone ฐานดอกสังเกตเห็นเด่นชัด นูนขึ้นเหนือกลีบดอก
  • Spoon ดอกย่อยมองเห็นชัดเจน กลีบดอกคล้ายไม้พาย
  • Quill ดอกย่อยบริเวณฐานถูกปกคลุม กลีบดอกคล้ายหลอด
  • Spider ดอกย่อยถูกปกคลุมกลีบดอกคล้ายหลอดปลายงุ้มหรือมีหนามห้อยลงมา
  • Brush & Thistle ดอกย่อยอาจเห็นได้บ้าง กลีบดอกคล้ายหลอดยื่นขนานกับก้านดอก
  • Exotic ถือเป็นดอกเบญจมาศที่ต่างไปจาก 12 ประเภทแรก

ด้านสายพันธุ์ของดอกเบญจมาศทั่วโลกต้องบอกว่ามีมากกว่า 40 ชนิด ขึ้นอยู่กับลักษณะ สีสันของต้นไม้ ตัวอย่างสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม เช่น

  • Allouise Pink ความสูงราว 3-4 ฟุต ออกดอกสีชมพูอ่อน ลักษณะจับกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีความโค้งงอบริเวณกลีบดอก
  • Anastasia Green ความสูงราว 2-3 ฟุต ชอบแสงแดดจัด ดอกสีเขียวอ้อนกลีบดอกมีความโค้งงอ ทรงของดอกคล้ายท่อกลวงยาว แตกต่างจากดอกไม้ทั่วไป
  • Bolero ความสูงราว 1.5-2 ฟุต ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวฐานกลางดอกเป็นสีเหลือง ขณะที่กลีบดอกอาจออกเป็นสีเหลืองหรือส้ม จัดเป็นสายพันธุ์ที่สวยงามและได้รับความนิยม
  • Clara Curtis ความสูงราว 1.5-2 ฟุต ฐานดอกเดี่ยวตรงกลางเป็นสีเหลือง กลีบดอกเดี่ยวสีชมพูอมม่วง มองผ่าน ๆ คล้ายดอกเดซี่ ชอบแดดรำไรไม่จัดมากนัก
  • Fireglow Bronze ความสูงราว 1-2 ฟุต ดอกออกสีเหลืองทองและส้มสดใส บ่งบอกถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วง ชอบแสงแดดแบบรำไร
  • Ja Dank ความสูงราว 3-4 ฟุต ดอกสีขาวขนาดใหญ่ กลีบดอกมีความโค้งเล็กน้อย ชอบแสงแดดจัด ถือเป็นอีกสายพันธุ์ที่มีเสน่ห์และสวยงามอย่างยิ่ง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเบญจมาศ

ต้นเบญจมาศ

ลำต้น

เบญจมาศถูกจัดอยู่ในกลุ่มของไม้ล้มลุก ลำต้นจึงมีขนาดเล็กทรงกระบอก มีขนละเอียดจำนวนมาก ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านเท่าใดนัก ความสูงราว 75-80 ซม.

ใบ

มีลักษณะเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวเรียงสลับกันทีละชั้น ทรงรีคล้ายกับไข่หรือบางมุมก็คล้ายหอก ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก สีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม ขณะที่บางสายพันธุ์อาจมีความแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย

ผล

หลายคนอาจไม่เคยเห็นสักเท่าไหร่นัก แต่ผลของเบญจมาศจะเป็นผลแห้ง มีเมล็ดเดียว และขนแข็ง ๆ จะติดอยู่ด้วย

ดอก

เป็นส่วนที่มีความโดดเด่นมากสุดของไม้ดอกชนิดนี้ ปกติแล้วจะรวมตัวกันเป็นช่อกระจุกแน่นตามปลายกิ่งหรือซอกใบ สีสันของดอกขึ้นอยู่กับประเภทสายพันธุ์ เช่น ขาว เหลือง ส้ม ชมพู ม่วง ฯลฯ กลีบเลี้ยงสีขาวทรงรี กลีบดอกมี 2 ชั้น โดยโคนกลีบจะเชื่อมต่อกันคล้ายหลอด ภายในมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย

ความเชื่อและความหมายของดอกเบญจมาศ

ดอกเบญจมาศถือเป็นสัญลักษณ์ของช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งความเชื่อของชาวจีนโบราณสังเกตตามลักษณะของดอกที่ออกรวมกันเป็นช่องจึงคล้ายกับความเป็นหนึ่งเดียวจากธรรมชาติได้รังสรรค์ขึ้น ในอีกมุมหนึ่งดอกไม้ชนิดนี้ยังบ่งบอกถึงความเป็นนิจนิรันดร การมีอายุยืนยาว ขณะที่ในฝั่งยุโรป “ดอกมัม” ที่คนส่วนใหญ่เรียกจัดเป็นดอกไม้ที่มีค่า มีเสน่ห์ สวยงาม มีความหมายในเชิงการสร้างความสนุก รื่นเริง ความรักอันแสนบริสุทธิ์ การมองโลกในแง่บวก มีความคิดเชิงบวก อย่างไรก็ตามดอกเบญจมาศแต่ละสีก็ยังมีคาวมเชื่อและความหมายที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

  • ดอกสีขาว หมายถึง สีแห่งความบริสุทธิ์ จัดเป็นสีที่มีบ่งบอกถึงการให้เกียรติ ความเคารพนับถือ ความสูงศักดิ์ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี
  • ดอกสีเหลือง หมายถึง สีแห่งความโชคดี ในหลายประเทศจะนิยมมอบให้กับผู้ใหญ่ หรือคนที่ตนเองเคารพนับถือเมื่อไม่ได้เจอกันนาน แสดงออกถึงความปรารถนาดี ความรู้สึกดีที่ได้พบเจอกันอีกครั้ง
  • ดอกสีแดง หมายถึง สีแห่งความรัก ซึ่งไม่ต้องกำหนดว่าเป็นเพศใด หรือสถานะไหน หากคุณมีความรักดี ๆ กับใครสักคนดอกเบญจมาศสีแดงพร้อมเป็นตัวแทนบอกความในใจ
  • ดอกสีชมพู หมายถึง สีแห่งความฝัน ความอ่อนหวาน แสดงออกถึงความจริงใจให้กับอีกฝ่ายได้อย่างน่าประทับใจ และยังสามารถมอบแด่คนรักเพื่อแสดงถึงความผูกพัน ความรักที่มีให้
เบญจมาศ

การปลูกและการเลี้ยงดูเบญจมาศ

เบญจมาศถือเป็นประเภทไม้ล้มลุกที่มีอายุสั้นเฉลี่ยแล้วหลังจากเป็นต้นกล้ากระทั่งเติบโตเต็มที่มีอายุราว 3-6 เดือน เมื่อออกดอกเรียบร้อยพวกมันจะค่อย ๆ เหี่ยวเฉาลงและตายในที่สุด แต่จุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งคือเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ทนทานแทบทุกสภาพอากาศ ทว่าพื้นที่เหมาะสมในการปลูกควรเลือกบริเวณที่มีช่วงกลางวันเฉลี่ย 14.5 ชม.

แต่ถ้าจะให้ดอกถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ก็ควรมีช่วงเวลาน้อยกว่า 13.5 ชม. บวกกับปริมาณแสงแดดที่ได้รับไม่น้อยกว่า 4 ชม. ในตอนกลางวัน ขณะที่ตอนกลางคืนต้องเปิดไฟเอาไว้อยู่ตลอด หากได้อยู่ในสภาพพื้นที่ดังกล่าวนอกจากดอกจะออกมาสวยงามแล้ว ยังเพาะปลูกขึ้นได้ตลอดปีด้วย

ขณะที่การปลูกเบญจมาศต้องเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นที่เพาะปลูก โดยสามารถทำตามขั้นตอนที่จะอธิบายต่อไปนี้ได้เลย

  • เตรียมพื้นที่การปลูก กรณีปลูกในโรงเรือน หลังคาพลาสติกต้องสูงราว 2-3 เมตร มีอากาศถ่ายเทพได้สะดวกตลอดวันในทุกด้าน แต่สภาพอากาศที่ดีไม่ควรร้อนจัดเกินไป มีความชื้นเหมาะสม ดินไม่แฉะเนื่องจากอาจทำให้รากเน่าเสียหาย
  • ปกติการลงดินเพื่อเตรียมแปลงปลูกในอดีตนิยมใช้ดินภูเขา แต่ปัจจุบันเลือกดินทั่วไปจากร้านขายอุปกรณ์การเกษตรได้เลย ซึ่งกรณีเป็นดินทั่วไปจะนิยมนำแกลบผสมขุยมะพร้าวกับปุ๋ยคอกคลุกลงไปในดินเพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอ ขนาดแปลงปลูกกว้างราว 90 ซม. มีการยกร่องด้านข้างคล้ายกับการปลูกผัก ใน 1 แปลง สามารถแบ่งแถวออกได้ 10-20 แถว ขึ้นอยู่กับพื้นที่
  • รูปแบบการปลูกเบญจมาศจะนิยมใช้กิ่งชำที่ได้มาปักชำ หลังผ่านไประยะหนึ่งจนรากเริ่มงอกออกมาให้ย้ายไปปลูกในแปลงใหญ่ที่เตรียมพื้นที่ไว้ หมั่นใส่ปุ๋ยคอกสม่ำเสมอ สังเกตเรื่องน้ำและแสงแดด จะช่วยให้ดอกออกมาสวยงาม

อย่างไรก็ตามหากต้องการขยายพันธุ์ดอกไม้ชนิดนี้มีหลายวิธีมาก เช่น การปักชำกิ่ง การแยกหน่อ การปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือการปักชำกิ่งเหตุผลมาจากขั้นตอนไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย ต้นไม้เติบโตภายในเวลาอันรวดเร็ว ดอกที่ออกมาสีสันงดงาม ดอกสมบูรณ์ แข็งแรง ดังนั้นจึงต้องเลือกกิ่งปักชำที่สุขภาพดี แข็งแรง เป็นทุนเดิมเอาไว้ตั้งแต่แรกด้วย

ส่วนโรคที่ต้องคอยระวังก็ไม่ต่างจากไม้ดอกทั่ว ๆ ไป เช่น โรคดอกเน่า โรคใบจุด โรคราสนิม ซึ่งมักเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่ค่อยอำนวยต่อการปลูก มีฝนตกหนักเกินไป น้ำฝนกระทบกับดอกเกิดความชื้นสูง จนมีแผลบริเวณดอกนำมาสู่การติดเชื้อราและอาการอื่น ๆ

ดอกเก๊กฮวย

ประโยชน์และสรรพคุณของเบญจมาศ

ต้องบอกว่าเบญจมาศถือเป็นต้นไม้ที่มีสรรพคุณต่อร่างกายของคนเราเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วมักนิยมนำดอกมาต้มชาสมุนไพรเพื่อบำรุงสุขภาพหลายด้าน เช่น

  • ลดอาการเครียด สร้างความผ่อนคลายให้กับสมอง
  • ลดระดับความดันโลหิตให้ทำงานได้ตามปกติ ไม่เสี่ยงต่อภาวะช็อก เส้นเลือดในสมองตีบ / แตก
  • มีส่วนช่วยบำรุงการทำงานของหัวใจให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
  • ดอกเบญจมาศยังอัดแน่นไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน จึงมีส่วนสำคัญในการบำรุงสายตา และยังป้องกันโรคเกี่ยวกับดอวงตา เช่น จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ต้อกระจกต่าง ๆ ได้อีกด้วย
  • การดื่มชาดอกเบญจมาศมักทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างเต็มที่ มีส่วนกระตุ้นระบบการเผาผลาญ เหมาะกับคนควบคุมน้ำหนักอย่างยิ่ง

ด้านราคาหากซื้อเป็นต้นเฉลี่ยตั้งแต่หลัก 10 กว่าบาท ไปจนถึงหลัก 100 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และขนาดของกิ่งปักชำ แต่เมื่อขายดอกต่อกำก็มักมีหลัก 100 บาทขึ้นไป สามารถหาซื้อได้ตามตลาดต้นไม้ทั่วไป

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “เบญจมาศ” ถึงกลายเป็นดอกไม้ที่มีชื่อเสียงและผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักกันอย่างดี บานสะพรั่งได้ทั้งปี การดูแลไม่ยุ่งยาก และยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายด้านอีกด้วย

Reference

www.allaboutgardening.com/mum-varieties/

www.newworldencyclopedia.org/entry/Chrysanthemum#Insecticidal_and_environmental_uses

www.baanlaesuan.com/plants/flowers/213636.html

kaset.today/ดอกไม้/เบญจมาศ/

บทความต้นไม้น่าสนใจอื่นๆ

RECENT POSTS