ว่านหางจระเข้ก็มีเรื่องเล่า อีกมิติของพืชฤทธิ์เย็นมากสรรพคุณ

ว่านหางจระเข้
สารบัญบทความ
ว่านหางจระเข้

ใครจะรู้… ว่าสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่ชูก้านปลายแหลมอย่างว่านหางจระเข้จะใช้แก้สารพัดปัญหาสุขภาพได้เหลือเชื่อ เพราะนอกจากช่วยดับร้อนจนรู้สึกชื้นสบายทั่วร่างแล้ว มันยังแฝงความหมายสุดพิศวงตามความเชื่อท้องถิ่นให้เราได้ค้นพบและรู้จัก บางทีเจ้าสิ่งนี้อาจเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์จากแดนไอยคุปต์อันไกลโพ้นก็เป็นได้

พบกันกับ preserved flower เช่นเคย ครั้งนี้เราจะพาเจาะลึกถึงพันธุ์พฤกษาเนื้อเย็นอย่าง ‘ว่านหางจระเข้’ ซึ่งต่อจากหัวเรื่องต้นไม้ฟอกอากาศกัน

ต้นว่านหางจระเข้

‘ว่านหางจระเข้’ นามนี้ได้แต่ใดมา

ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) เป็นต้นไม้เนื้ออวบอิ่มน้ำตระกูลลิเลียม (Lilium) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดทางแถบแอฟริกาใต้จรดชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งยังมีสายพันธุ์แยกย่อยมากกว่า 3,000 ชนิดที่สามารถพบเห็นได้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เราต่างเรียกขานต้นชนิดนี้ว่า ‘ว่านหางจระเข้’ ไม่แน่ชัดนัก บ้างก็ถอดความหมายมาจากคำว่า ‘Aloe’ ในภาษากรีกซึ่งแปลว่าว่านหางจระเข้ หรือบางทีก็แผลงมาจากคำว่า ‘Allal’ ในภาษายิวซึ่งแปลว่า ‘รสขมฝาด’ ร่วมกับการใช้คำว่า ‘Verus’ ซึ่งแปลว่า ‘ความจริง’ ในภาษาละตินมาผสมกัน ทำให้เดาโดยคร่าวว่าว่านหางจระเข้เป็นพืชผู้ให้ความเที่ยงแท้แก่มวลชีวิตตั้งแต่โบราณ

ดอกว่านหางจระเข้
ดอกว่านหางจระเข้

ลักษณะพฤกษศาสตร์

ลำต้นพ้นจากรากเป็นแฉกสูงขนาด 24 – 39 นิ้ว ใบหน้าอ้วนสีเขียวถึงอมเทาพร้อมขอบใบหยักถี่คล้ายฟันซี่ ทั้งยังเป็นแมกไม้ดอกซึ่งชูก้านเป็นช่อแดงส้มห้อยสวยในช่วงฤดูร้อนของทุกปี นอกจากนี้ว่านหางจระเข้จัดเป็นต้นไม้ฟอกอากาศที่มีฟังก์ชั่น Phytoremediation คอยดูดซึมสารพิษสู่ดินให้จุลินทรีย์ย่อยสลายก่อนส่งไปหล่อเลี้ยงราก ลำต้นและยอดใบ

3 สายพันธุ์ว่านหางจระเข้ที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม เราได้หยิบว่านหางจระเข้ 3 สายพันธุ์มาแนะนำให้ผู้อ่านพอรู้ถึงวิธีดูแลและเพาะปลูก โดยเรียงลำดับดังนี้

ว่านหางจระเข้บาบาเดนซิส
Aloe Barbadensis Mill

1. บาบาเดนซิส (Aloe Barbadensis Mill)

บาบาเดนซิสเป็นพันธุ์ต้นใหญ่ที่พร่างพรายด้วยลายจุดขาวจรดปลายขณะเยาว์วัย เนื้อวุ้นมาก เมื่อโตจะมีขนาดร่องใบยาว 40 – 60 เซนติเมตรโดยประมาณ นิยมใช้ในแวดวงอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นอาหารและยาสมุนไพรรสขมน้อยรักษาโรค เนื่องจากพบได้ทั่วไปและเติบโตไว แถมวิธีดูแลก็แสนง่ายแค่ทำตามไล่ตาม Step 4 ข้อ ดังนี้

  • ควรให้น้ำแบบฝอยกระจายคล้ายค่อยป้อนอาหารเข้าปาก หากเทราดน้ำจะท่วมขัง เมื่อโดดแดดจัดจะคลายน้ำไม่ทันร่วมกับใบไม้ลวกจนเน่าและตายในที่สุด
  • ให้ปุ๋ยดอกหรือปุ๋ยหมักเพียงเดือนละครั้ง
  • วางหรือปลูกไว้ในที่ร่มแดดโรยรายามเช้าถึงสาย
  • ถอนตัดดายวัชพืชแทนใช้สารเคมี เพื่อเลี่ยงสารพิษสะสมในเนื้อวุ้นใบ
  • ควรถอนต้นเล็กที่งอกข้างต้นใหญ่บางส่วนออก เพื่อให้สารอาหารหล่อเลี้ยงใบหลักได้เต็มที่
ว่านหางจระเข้อะโลอัลบิดา
Aloe Albida

2. อะโลอัลบิดา (Aloe Albida)

ถัดมาเป็นว่านหางจระเข้สายพันธุ์อนุรักษ์สมญานาม ‘Glass Aloe’ ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋ว ชูช่อสีขาวนวลเดี่ยวโดดเด่นในช่วงต้นฤดูร้อน มักเติบโตได้ดีตามทุ่งหญ้าหรือโขดหินบนภูเขาในช่วงฤดูฝน จึงเหมาะใช้เป็นไม้ประดับและช่วยฟอกอากาศในห้องนอนได้อย่างดี ทว่าอะโลอัลบิดาค่อนข้างบอบบาง ควรปลูกในที่ร่มแดดรำไรในดินร่วนและดินทราย ให้น้ำเหมือนพันธุ์แรกทุกประการ ทว่าเมื่อเข้าฤดูหนาวให้รดน้ำช่วงอากาศร้อนเท่านั้น

ฮาโวเทียใบขน
Aloe Haworthioides, อ้างอิงรูปภาพ : powo.science.kew.org/taxon

3. ฮาโวเทียใบขน (Aloe Haworthioides)

Aloe Haworthioides หรืออีกชื่อที่บางคนเรียกว่า ‘ฮาโวเทียใบขน’ เป็นไม้พื้นเมืองมาร์ดากัสการ์ที่มีลักษณะคล้ายหนามแหลมของกระบองเพชร ทว่าเมื่อสัมผัสจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นขนเรียบนุ่มน่าทะนุถนอมสมฉายา ‘Cushion Aloe’ ซึ่งใช้ขนรอบกายเป็นเสมือนเกราะกันกระแทก ทั้งยังใช้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและยาพื้นถิ่นรักษาผื่นแผลผุพองในบางวัฒนธรรม เติบโตได้ดีเมื่ออยู่กลางแจ้งในดินกระถังเล็ก เนื่องด้วยขนาดตัวโตเต็มวัยที่ไม่เกิน 10 ซม. จึงเหมาะจะปลูกรับแดดใกล้หน้าต่างบ้าน

ส่วนวิธีดูแลฮาโวเทียใบขนนั้นไม่ต่างจากว่านหางจระเข้พันธุ์อื่นนัก เพียงพรมน้ำด้วยสเปรย์ฉีดให้พอชุ่ม ใส่ปุ๋ยบำรุงดินปีละครั้ง งดให้น้ำเมื่อเข้าฤดูหนาวช่วงค่ำ และหมั่นสังเกตอาการมันดั่งผู้ป่วยที่ต้องดูแล เท่านี้เองต้นไม้ของคุณจะแข็งแรงพอชูช่อไม้ดอกสดสวยอวดโฉมให้คุณได้เพลินตา

ว่านหางจระเข้ความหมาย

ว่านหางจระเข้กับความเชื่อพื้นถิ่น

เนื่องด้วยว่านหางจระเข้จึงมีความหมายโดยนัยเกี่ยวพันกับองค์ประกอบน้ำและดวงจันทร์ ทั้งยังมีความหมายสัมพันธ์ถึง ‘เทพธิดา’ จึงไม่แปลกใจที่มันจะกลายเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายเช่นคำสาปนัยน์ตาปีศาจ (Evil eye) สกัดกั้นพลังลบ ทั้งยังส่งเสริมด้านความโชคดีในทุกด้าน นอกจากนี้อียิปต์โบราณยังแทนความหมายของว่านหางจระเข้ในเชิงถึงการปกป้องและชำระล้างจิตวิญญาณให้บริสุทธ์ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับคงสภาพผิวหนังของมัมมี่ของเชื้อพระวงศ์และกษัตริย์

รวมสรรพคุณว่านหางจระเข้

หลังจากเราพาทัวร์จนรู้จักพืชรวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับพืชชนิดนี้แล้ว สรรพคุณของมันย่อมเป็นประเด็นชูเด่นตลอดกาลที่ไม่ควรพลาดจะพูดถึง ซึ่งเรากล่าวเพียง 3 ข้อพอสังเขป ได้แก่

ว่านหางจระเข้สรรพคุณ

1. สมานแผลน้ำร้อนลวก

ว่านหางจระเข้จัดเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่บรรเทาแผลไหม้ตามผิวหนังในระดับ 1 – 2 ให้กลับสู่สภาวะปรกติ ดังที่อเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรียได้ทดลองจนพบว่านอกจากรักษาแผลไหม้น้ำร้อนลวกได้ดีแล้ว ตัวมันยังอุดมด้วยโพลียูโรไนด์และโพลีแซคคาไรด์ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยลดการอักเสบและป้องกันเชื้อโรคเข้าร่างกายทางบาดแผลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในอดีต The United States Pharmacopeia ยังเคยจดทะเบียนให้ว่านหางจระเข้เป็นหนึ่งในพืชถนอมผิวตั้งแต่ปีค.ศ. 1810 – 1820

ว่านหางจระเข้ประโยชน์

2. บำรุงผิวหนังและกระดูก

ว่านหางจระเข้ยังอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ทั้งยังช่วยกำจัดฝ้า ลดริ้วรอยชะลอวัยให้เต่งตึง จึงไม่แปลกที่มักเห็นผลิตภัณฑ์ Skin care ที่เห็นบ่อยตามท้องตลาด นอกเหนือจากนี้ยังช่วยประสานกระดูกและใช้รักษาสารพัดโรค เช่น โรคตับ โรคความผิดปกติทางสมอง

3. กรองฝุ่นและสารพิษในอากาศ

นอกจากว่านหางจระเข้จัดเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นมากฟังก์ชั่นคอยทุเลาบาดแผลแล้ว มันยังช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์ก็ทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง โดยมันช่วยดูดซับสารพิษจากเบนซินและฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบบ่อยจากผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก กาว สีย้อม ยาง น้ำยาเคลือบเงาและถูพื้น

4. ลดระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากสรรพคุณบรรเทาอาการแผลไหม้แล้ว ว่านหางจระเข้ยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาโรคเบาหวานได้อย่างดี ดังงานศึกษาประสิทธิภาพการรักษาโรคเบาหวานสองชนิดของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าว่านหางจระเข้มีส่วนควบคุมระดับน้ำตาล อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยผลการศึกษายังไม่แน่ชัดและมากพอนัก นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่แนะนำใช้ว่านหางจระเข้ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าว

5. ลดอาการท้องผูก

เนื่องด้วยมีน้ำยางและเนื้อวุ้นนุ่มสัมผัสเป็น Texture หลัก จึงทำให้กระเพาะลำไส้ย่อยสลายได้สะดวก ซึ่งทำงานร่วมกับสารสำคัญอย่างแอนทราควิโนน (Anthraquinone) จึงทำให้ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นขับถ่ายระบายอ่อน เมื่อส่วนของยางว่านหางไปเคี่ยวจนเป็นก้อนจะได้ตำรับยาไทยอย่าง ‘ยาดำ’ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสส่วนยางว่านโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

ยาว่านหางจระเข้

6. ช่วยขจัดคราบหินปูน

บ่อยครั้งที่เรามักเห็นยาสีฟันใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบชูตัวผลิตภัณฑ์ นั่นเพราะว่ามันสามารถลดการสะสมของแบคทีเรียได้ ทั้งนี้จากงานศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากกับกลุ่มคนสุขภาพช่องปากดีกว่า 300 คนพบว่าน้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าแบบคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) หลังใช้ได้ 4 วัน

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาอื่นที่พบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันเมื่อสังเกตผลตั้งแต่ 15 – 30 วัน โดยการทดสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิด Streptococcus mutans ซึ่งมักสะสมตามคราบพลัคในช่องปาก

7. ชะลอการเกิดมะเร็งเต้านม

งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ได้เผยว่าสารประกอบในใบของว่านหางจระเข้มีศักยภาพในการชะลอการเติบโตของมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทฤษฎีนี้ให้ก้าวหน้าต่อไป

การทานว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ รับประทานสดได้ไหม

แม้จะมีข้อดีมากสรรพคุณล้านแปดประการทั้งยังสามารถทานสดได้ ทว่าของทุกอย่างย่อมมีข้อเสียเป็นเงาตามตัวเป็นธรรมดา ทั้งนี้ The National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าการรับประทานว่านหางจระเข้ในปริมาณมากเกินไป จะส่งผลให้ท้องเสียบ่อย เนื่องจากว่านหางจระเข้มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับหากรับประทานเป็นอาหารเสริมในระยะยาว นอกจากนี้ควรแกะเปลือกและงดใช้ผลิตภัณฑ์ยางหรือยาดำจากว่านหางจระเข้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีรับประทานทุกครั้ง เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้

เอกสารอ้างอิง

  • มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. (ม.ป.ป). ประโยชน์ของว่านหางจระเข้. สืบค้น เมื่อ 14 มีนาคม 2565, จาก www.rama.mahidol.ac.th/patient_care/th/health_issue /06112015-1325-th
  • โพสต์ทูเดย์. (2557). ว่านหางจระเข้. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566,จาก www.posttoday.com/life style/336832

RECENT POSTS