ดินวิทยาศาสตร์ คืออะไร ใช้ปลูกอะไร? ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้

ดินวิทยาศาสตร์
สารบัญบทความ
ดินวิทยาศาสตร์

preserved-flower.biz จะพามารู้จักกับดินวิทยาศาสตร์ หรือที่เราอาจเคยได้ยินกันในชื่อ เจลดินคริสตัล ดินคริสตัล หรือดินโพลิเมอร์ เป็นวัสดุสมัยใหม่ที่นิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเกษตรยุคปัจจุบัน ทั้งการปลูกไม้ประดับ ไม้มงคลในครัวเรือน คอนโด ออฟฟิศและสำนักงาน หรือนำมาผสมกับดินธรรมชาติเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและปรับคุณภาพดินให้ดียิ่งขึ้น

ด้วยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของดินวิทยาศาสตร์ที่สามารถดูดซึมของเหลวหรือน้ำไว้กับตัวได้มากถึง 50-500 เท่าของน้ำหนักตัว และสามารถเก็บน้ำไว้ได้นานหลายเดือน ทั้งยังหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดินวิทยาศาสตร์จึงนับเป็นอีกหนึ่งวัสดุปลูกที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน 

ดินวิทยาศาสตร์ คืออะไร

ดินคริสตัล

ดินวิทยาศาสตร์ (Magic crystal soil, Crystal-Soil, Water Crystals, Water Beads) คือ วัสดุชนิดหนึ่งที่ผลิตมาจากโพลิเมอร์ (Polymer) ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้อย่างยิ่งยวด (Super Absorbent Polymers: SAPs) มีสารประกอบสำคัญได้แก่ โพลีอะครีลาไมด์ (Polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (Vinyl Acetate-Ethylene Copolymer) จึงทำให้วัสดุเหล่านี้สามารถดูดซับของเหลวได้สูงสุด 50-500 เท่าของน้ำหนักตัวแบบแห้ง และสามารถกักเก็บของเหลวไว้กับตัวได้นานมากถึง 2 เดือน

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของโพลิเมอร์ชนิดนี้ จึงได้มีการประยุกต์ใช้อย่างหลากหลายทั้งทางการแพทย์ เช่น ผ้าพันแผลหรือวัสดุสำหรับปิดแผลไฟไหม้ หรือใช้ในด้านการเกษตร โดยใช้สำหรับการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน หรือใช้สำหรับการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ แทนดินจากธรรมชาติ จึงมีชื่อเรียกว่าดินวิทยาศาสตร์

นอกไปจากโพลีอะครีลาไมด์ (Polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (Vinyl Acetate-Ethylene Copolymer) แล้วนั้น ยังมีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำตัวอื่น ๆ เช่น สารโพลิอะคริลิกแอซิด (Polyacrylic Acid) สารโซเดียมโพลิอะคริเลต (Sodium Polyacrylate) แต่จะนิยมนำมาใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป เช่น ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำหรับเด็กเล็ก แผ่นรองซับปัสสาวะ เป็นต้น

ดินวิทยาศาสตร์ คุณสมบัติ

คุณสมบัติของดินวิทยาศาสตร์

ดินวิทยาศาสตร์มีคุณสมบัติที่โดดเด่น ดังนี้

  • ดินวิทยาศาสตร์ผลิตมาจากโพลิเมอร์ที่สามารถดูดซับน้ำได้อย่างยิ่งยวด (SAPs) สามารถดูดซับและกักเก็บของเหลวหรือน้ำไว้กับตัวได้มากถึง 50-500 เท่าของน้ำหนักตัว และสามารถกักเก็บน้ำอยู่กับตัวได้นานหลายเดือน สามารถใช้ปลูกต้นไม้แทนดินธรรมชาติ และสามารถใช้ผสมลงในดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินได้
  • ดินวิทยาศาสตร์มีความทนทานและมีความคงตัวสูง หลังจากดูดซับของเหลวสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 
  • ดินวิทยาศาสตร์ที่พองตัวออกในรูปแบบของเนื้อเจลทั้งแบบชิ้นและแบบก้อนกลม (Crystals) จึงมีช่องว่างระหว่างโมเลกุลค่อนข้างมาก เมื่อนำไปใช้ปลูกต้นไม้จะช่วยทำให้รากของต้นไม้สามารถชอนไชและดูดซึมของเหลวที่อยู่ในดินวิทยาศาสตร์ได้โดยง่าย ทำให้พืชได้รับน้ำและสารอาหารต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
  • ดินวิทยาศาสตร์มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนวัสดุ ภาชนะ และไม่ระคายเคืองต่อผิว
  • มีความคงตัวและไม่เสื่อมสภาพเมื่อสัมผัสกับแสงแดด (Photostability)

วิธีใช้ดินวิทยาศาสตร์

สามารถเตรียมดินวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ๆ เพียงนำดินวิทยาศาสตร์แช่ไว้ในน้ำสะอาด ใช้เวลาในการแช่ประมาณ 8-10 ชั่วโมง หรืออาจแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ตัวโพลิเมอร์จะดูดซับน้ำและพองตัวออกจนมีลักษณะเป็นเนื้อเจลสีใส (ทั้งแบบเนื้อละเอียดและแบบก้อน) จากนั้นก็สามารถนำดินวิทยาศาสตร์ไปใช้สำหรับปลูกต้นไม้ได้ทันที โดยสามารถใช้ได้หลากหลายวิธี 

  • ใช้ดินวิทยาศาสตร์ (ที่แช่น้ำแล้ว) เพื่อปลูกไม้ประดับหรือไม้กระถางในร่ม ทั้งนี้ต้นไม้บางชนิดจะต้องปลูกแบบมีน้ำท่วม คือ ใช้ดินวิทยาศาสตร์ใส่ลงในภาชนะจากนั้นเติมน้ำลงไปจนเต็มแล้วจึงใส่ต้นไม้ลงไป หรือใช้แค่เพียงดินวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวแต่ไม่ต้องเติมน้ำจนท่วม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ไม้ที่ปลูก
  • ใช้ดินวิทยาศาสตร์ 1 ส่วน ผสมเข้ากับดินธรรมชาติ 6 ส่วน (สามารถใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปได้) จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันดี นำไปใช้ปลูกต้นไม้หรือใช้ในแปลงเพาะต้นกล้า ดินวิทยาศาสตร์ที่อุ้มน้ำจะช่วยบำรุงให้ต้นไม้หรือต้นกล้าเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาที่ต้องใช้ในการดูแลหรือรดน้ำ 
ดินวิทยาศาสตร์ ใช้ปลูกอะไร

ใช้ปลูกอะไรได้บ้าง

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำไว้กับตัวได้อย่างดีเยี่ยมของดินวิทยาศาสตร์ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำ หรือเป็นต้นไม้ที่ต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ ได้แก่

  • ต้นไม้ตระกูลพลูประดับ เช่น พลูฉลุ พลูด่าง ราชินีสีทอง พลูราชินีหินอ่อน พลูหัวใจแนบ พลูอินโดนิเซียฯลฯ
  • ต้นไม้ตระกูลไผ่กวนอิม เช่น กวนอิมหยก กวนอิมทอง กวนอิมเงิน กวนอิมดอกบัว 
  • ต้นไม้ตระกูลบอนสี เช่น ต้นเงินไหลมา ออมเงิน ออมทอง ออมนาค ออมชมพู ต้นซินโกเนียม ต้นแก้วกาญจนา (เขียวหมื่นปี) ต้นสาวน้อยประแป้ง ต้นฟิโลเลนดรอน 
  • ต้นไม้อื่น ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตในน้ำ เช่น คล้าหางนกยูง ต้นลิ้นมังกร ต้นเล็บครุฑ ต้นแคกตัส ต้นอิงลิช ไอวี่ (English Ivy) ต้นเปปเปอร์โรเนีย เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ดินวิทยาศาสตร์ผสมเข้ากับดินธรรมชาติ เพื่อปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผักต่าง ๆ รวมไปจนถึงใช้ปลูกหญ้าในสนามหญ้าหรือสนามกอล์ฟ

ข้อดีของดินวิทยาศาสตร์

  • ช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก ด้วยการเพิ่มและรักษาความชุ่มชื้นในดินได้มากถึง 30% ช่วยประหยัดน้ำและลดการใช้แรงงาน เพราะไม่ต้องเสียเวลามารดน้ำต้นไม้บ่อย ๆ
  • ดินวิทยาศาสตร์ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในพันธุ์พืช ซึ่งมักเกิดจากเชื้อโรค แบคทีเรียและเชื้อราที่อยู่ในดินจริง จึงช่วยเพิ่มอัตราการรอดของพันธุ์ไม้
  • ช่วยลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินความจำเป็น เพราะดินวิทยาศาสตร์จะช่วยดูดซับเอาสารเหล่านี้ไว้กับตัวและปล่อยออกมาอย่างช้า ๆ จึงสามารถขยายระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของปุ๋ยและสารเคมี
  • ใช้รักษาความชุ่มชื้นให้กับรากของต้นไม้ในระหว่างการขนส่ง โดยสามารถใช้ดินวิทยาศาสตร์พอกที่บริเวณรากของต้นไม้ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับราก และป้องกันไม่ให้ต้นไม้เหี่ยวเฉาหรือตายไปในระหว่างการขนส่ง
  • สามารถนำดินวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย ทั้งการปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อการเพาะปลูกในป่าไม้ การเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ ตลอดไปจนถึงการปลูกต้นไม้ในครัวเรือน 
  • ดินวิทยาศาสตร์สามารถสลายตัวได้ในธรรมชาติ ด้วยอัตราการสลายตัวที่ประมาณ 10-15%/ปี ดินวิทยาศาสตร์จึงเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นมลพิษหรือสร้างอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
  • ดินวิทยาศาสตร์สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีราคาประหยัด

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

นอกไปจากการใช้ดินวิทยาศาสตร์เพื่อการเพาะปลูกต้นไม้หรือใช้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินแล้วนั้น ยังสามารถนำดินวิทยาศาสตร์ไปใช้ได้อย่างหลากหลาย เช่น 

  • ใช้เพื่อยืดอายุให้กับดอกไม้ในแจกัน คล้ายกับการใช้ก้อนโอเอซิส 
  • เจลน้ำหอมจากดินวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้เพิ่มความหอมให้กับห้องทำงาน ห้องน้ำ หรือในรถ
  • ใช้ประดับตกแต่งเพิ่มความสวยงามให้กับตู้พรรณไม้น้ำ ตู้ปลา หรือใช้สำหรับการจัดแต่งสวนถาด
  • ดินวิทยาศาสตร์ยังสามารถใช้ใส่ในแหล่งน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ ช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง เป็นต้น 
  • ใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน เสริมสร้างทักษะให้กับเด็กเล็กทั่วไป และสามารถใช้เสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กพิเศษ เช่น กลุ่มผู้ป่วยออทิสซึม (Autism) ช่วยฝึกทักษะการนับเลข การแยกแยะสี การพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เพื่อฝึกให้เด็กสามารถควบคุมการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อมือและตา (Hand & Eye Coordination) เป็นต้น 
ดินวิทยาศาสตร์ คือ

ข้อควรระวังในการใช้ดินวิทยาศาสตร์

ดินวิทยาศาสตร์เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย ไม่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อน ไม่เป็นพิษหรือทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิว ทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ จึงเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูง แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ดินวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน

  • ควรเก็บดินวิทยาศาสตร์ให้พ้นมือเด็ก เพราะหากเด็กเผลอนำเข้าปาก อาจทำให้สำลักหรืออุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออกอย่างเฉียบพลันและส่งผลให้เสียชีวิตได้ หรือในกรณีที่เด็กกลืนเข้าไป ก็จะส่งผลให้ดินวิทยาศาสตร์เข้าไปอุดตันในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ขัดขวางระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและมีระดับเกลือแร่ที่ผิดปกติในร่างกาย ทำให้วิงเวียนศีรษะ อาเจียน รวมถึงทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก หากเข้ารับการรักษาและผ่าตัดเพื่อนำดินวิทยาศาสตร์ออกจากช่องท้องไม่ทัน ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
  • เก็บดินวิทยาศาสตร์ให้พ้นจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน 
  • ห้ามทิ้งดินวิทยาศาสตร์ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ

References

RECENT POSTS