สาหร่ายข้าวเหนียว (Bladderwort) พืชกินสัตว์ใต้น้ำสุดพิศวง

สาหร่ายข้าวเหนียว
สารบัญบทความ
สาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียว พรรณไม้ใต้น้ำทรงพุ่มสวย พบได้บ่อยในแหล่งน้ำจืดที่เป็นน้ำนิ่งทั่วไป เช่น บ่อน้ำ หนองน้ำ บึง นาข้าว ฯลฯ ต้นทอดยาวได้ถึง 1 เมตร โดยส่วนของลำต้นจะเป็นท่อกลมและอวบน้ำ มีถุงกระเปาะขนาดเล็กที่พัฒนามาจากส่วนของใบใช้สำหรับดักจับแมลงและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โปรโตซัว ไรน้ำ หนอนน้ำ หรือตัวอ่อนของแมลง สาหร่ายข้าวเหนียวจึงจัดเป็นพรรณไม้น้ำชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของพืชกินแมลง (Aquatic Carnivorous plant)

ความโดดเด่นของสาหร่ายข้าวเหนียวคือ ลักษณะของใบที่เรียวเล็กคล้ายเส้นด้ายเป็นพุ่มสวย ประกอบกับช่อดอกสีเหลืองสด สีขาว และสีม่วงอมชมพู จึงสามารถใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตู้พรรณไม้ หรือใช้ปลูกในตู้ปลาเพื่อความสวยงาม 

ข้อมูลทั่วไปของสาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียว

ชื่อ: สาหร่ายข้าวเหนียว (Bladderwort)

ชื่อวงศ์: Lentibulariaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์: Utricularia aurea

สปีชีส์: Utricularia graminifolia, Utricularia gibba, Utricularia sandersonii, Utricularia bifida, Utricularia furcellata, Utricularia aurea, Utricularia minor, utricularia vulgaris

ชื่อท้องถิ่น: สาหร่ายดอกเหลือง สาหร่ายนา สาหร่ายไข่ปู สาหร่ายตีนกุ้ง สาลี แหนเครอ กาแหนเครือ (เชียงใหม่)

ถิ่นกำเนิดของสาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียวมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศในแถบเอเชียตะวันออก

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของสาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียวเป็นพรรณไม้น้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพืชใต้น้ำ (Submerged plants) ที่ไม่มีรากแท้ มีแค่เพียงรากเทียม ลำต้นเป็นท่อกลมมีลักษณะเรียวยาวมีขนาดความยาวได้มากถึง 1 เมตร ด้วยลักษณะของลำต้นแบบท่อกลม ทำให้สาหร่ายข้าวเหนียวสามารถลอยอยู่ในน้ำ และมีบางส่วนของต้นจมอยู่ใต้น้ำและโคลน 

ลักษณะใบ

สาหร่ายข้าวเหนียว กับดัก

ใบของสาหร่ายข้าวเหนียวเป็นสีเขียว มีลักษณะเรียวเล็กคล้ายเส้นด้ายเชื่อมต่อกันเป็นพวง และแตกแขนงออกรอบข้อตลอดความยาวของลำต้น โดยใบจะออกตรงกันเป็นคู่หรือออกเป็นกระจุก 3-4 กลุ่ม มีความยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร

เนื่องจากสาหร่ายข้าวเหนียวเป็นพรรณไม้ใต้น้ำชนิดที่ไม่มีราก จึงจำเป็นต้องรับสารอาหารเพื่อใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น โดยใบบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นกระเปาะหรือถุงเล็ก ๆ รูปไข่เบี้ยวแทรกอยู่ที่บริเวณก้านใบเป็นระยะ ๆ ใช้สำหรับดักจับแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีชื่อเรียกว่ากับดักแบบถุง (Bladder Traps) ตัวถุงมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร

ภายในถุงเป็นระบบสุญญากาศ และมีต่อมเล็ก ๆ เพื่อใช้ผลิตน้ำย่อยสำหรับย่อยเหยื่อที่จับได้ สาหร่ายข้าวเหนียวจึงจัดอยู่ในกลุ่มของพืชกินแมลง (Carnivorous plant / Insect-catch plant) อย่างเช่น กาบหอยแครง ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซาราซีเนีย สนน้ำค้างโปรตุเกส แต่จะมีลักษณะของกับดัก (Traps) และถิ่นอาศัยที่แตกต่างกันออกไป 

ลักษณะดอก

สาหร่ายข้าวเหนียว ดอก

ดอกของสาหร่ายข้าวเหนียวเป็นดอกสีเหลืองเข้ม (บางสายพันธุ์อาจมีสีขาว และสีม่วงอมชมพู) ก้านช่อดอกยาว 4-12 เซนติเมตร ชูขึ้นมาเหนือผิวน้ำสังเกตเห็นได้ง่าย ออกดอกรวมกันเป็นช่อ ช่อละประมาณ 4-8 ดอก

ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนติดกันกับตรงฐานของดอก ตรงส่วนปลายแยกเป็น 2 แฉก โดยทั้ง 2 แฉกจะมีขนาดเล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน ปลายเรียวแหลม

กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนล่างยื่นเป็นจะงอย ตรงส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน กลีบดอกส่วนด้านบนทรงค่อนข้างกลมและมีผิวเรียบ ตรงฐานดอกมีลายเส้นสีน้ำตาลอมแดง มีเกสรตัวผู้ 2 อันติดอยู่บริเวณกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่ตั้งอยู่บนฐานดอก รังไข่ 1 ช่อง ท่อรังไข่เป็นรูปกรวย ดอกของสาหร่ายข้าวเหนียวสามารถออกได้ตลอดทั้งปี 

ลักษณะผล

สาหร่ายข้าวเหนียว ผล

ผลเป็นผลเดี่ยว รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่อผลแก่ได้ที่จะแห้งและแตกออก ภายในผลมีเมล็ดอยู่จำนวนมาก โดยเมล็ดมีสีน้ำตาลและแบนเป็นทรงห้าเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร 

กลไกการจับเหยื่อของสาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียวเป็นพรรณไม้ใต้น้ำที่อยู่ในกลุ่มของพืชกินสัตว์ (Aquatic Carnivorous plant) ซึ่งมีกับดักแบบถุง (Bladder traps) ที่พัฒนามาจากส่วนของใบ โดยใบจะพองตัวออกคล้ายถุงหรือกระเปาะเล็ก ๆ มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ภายในถุงเป็นสุญญากาศ ตรงปากถุงมีส่วนที่ยื่นยาวออกมาคล้ายขนเส้นเล็ก ๆ (Bristle-stiff protuberances) ใช้สำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวของแมลงหรือสัตว์น้ำ

เมื่อมีเหยื่ออยู่ใกล้ ๆ ปากถุงด้านนอกจะเปิดออกแล้วดูดเหยื่อเข้าไปในถุงอย่างรวดเร็ว จากนั้นปากถุงจะปิดตัวลงโดยอัตโนมัติ ภายในถุงนี้มีต่อมขนาดเล็กคอยสร้างน้ำย่อยสำหรับย่อยเหยื่อ และดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ไปใช้บำรุงทุกส่วนของต้นให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและการอยู่รอดต่อไป เมื่อผ่านไปประมาณ 15-30 นาทีหลังย่อยอาหารเสร็จ กระเปาะจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติและคอยดักจับเหยื่อใหม่อีกครั้ง

การขยายพันธุ์ของสาหร่ายข้าวเหนียว

ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยเมล็ดที่ร่วงออกจากผลแก่หรือส่วนของลำต้นที่แยกขาดออกจากกัน โดยจะเจริญเติบโตได้ดีที่แหล่งน้ำนิ่งหรือบริเวณที่กระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เช่น บ่อน้ำ หนองน้ำ บึง หรือนาข้าว พบสาหร่ายข้าวเหนียวได้มากในเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อนในแถบเอเชียตะวันออก ในประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม ประเทศไทย ฯลฯ

สาหร่ายข้าวเหนียว
utricularia vulgaris

ประโยชน์ของสาหร่ายข้าวเหนียว

  • สาหร่ายข้าวเหนียวนับเป็นพืชใต้น้ำที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ด้วยการดักจับแมลง หรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น โปรโตซัว หนอนน้ำ ไรน้ำ ตัวอ่อนของแมลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่เป็นพาหะนำโรคในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น ลูกน้ำ ที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคเท้าช้าง โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ ฯลฯ
  • สาหร่ายข้าวเหนียวอาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกรองธรรมชาติ พืชที่ลอยในน้ำจะช่วยลดปริมาณสาหร่ายสีเขียวลงได้
  • สาหร่ายข้าวเหนียวช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง และปลดปล่อยออกซิเจนกลับคืนสู่แหล่งน้ำ 
  • นิยมปลูกสาหร่ายข้าวเหนียวเพื่อความสวยงาม โดยใช้เป็นไม้ประดับตู้พรรณไม้น้ำ สวนน้ำ หรือตู้ปลา
  • สาหร่ายข้าวเหนียวยังนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะสาหร่ายข้าวเหนียวเป็นพืชน้ำที่มีดอกบานสะพรั่ง สีสันสวยงาม จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากเหล่านักท่องเที่ยว อย่างเช่น ทุ่งสาหร่ายข้าวเหนียวในทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 

แหล่งที่มาข้อมูล

RECENT POSTS