โรริดูลา(Roridula) พืชยุคโบราณที่ดักแมลงเป็นเหยื่อล่อสัตว์ด้วยยางเหนียว

โรริดูลา
สารบัญบทความ
โรริดูลา
Roridula Dentata, Credit image by cpphotofinder.com/roridula-dentata-526.html

พืชที่กินสัตว์ (Carnivorous plants) นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์อย่างมาก เพราะพืชเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวต่อสภาวะอากาศ หรือสภาวะการขาดแคลนสารอาหาร พวกมันวิวัฒนาการณ์ตัวเองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากต่อการเติบโตของพืชส่วนใหญ่ได้ และปรับตัวให้สามารถหาอาหารจากการดักจับเหยื่อเล็ก ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เฉกเช่น “โรริดูลา”

โรริดูลา(Roridula)-ปฐมบท

โรริดูลา (Roridula) เป็นพืชกินสัตว์สายพันธุ์หนึ่งที่มีความสามารถในการหาอาหารได้แตกต่างจากพืชอื่น ๆ พวกมันผลิตยางไม้เหนียว ๆ เพื่อดักจับแมลงและนำมาสร้างเป็นอาหารให้แก่ต้นของมันเอง วิธีการดักแมลงมีความคล้ายคลึงกับพืชสกุล หยาดน้ำค้าง (Drosera)

สิ่งที่ทำให้โรริดูลาแตกต่างจากพืชกินแมลงอื่น ๆ คือมันไม่มีของเหลวสำหรับการย่อยอาหารเหมือนพืชเหยือกกินแมลงเช่นหม้อข้าวหม้อแกงลิง แต่จะอาศัยการย่อยสลายโดยให้แมลงอื่นเข้ามากินเหยื่อที่ติดกับดักจากต้นของมัน ซึ่งมีแมลงทั้งชนิดที่ติดและไม่ติดกาวกับดักจากน้ำยางของโรริดูลา เมื่อแมลงกินเหยื่อที่ติดอยู่กับต้นของโรลิดูลาแล้วก็จะถ่ายของเสียออกมา ซึ่งมูลของแมลงเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยไนโตรเจนและสารอาหารจำเป็นสำหรับพืชชนิดนี้ ทำให้มันดำรงอยู่ได้แม้ในสภาวะแร้นแค้นก็ตาม

**ดังนั้น จึงจัดได้ว่า โรริดูลา ไม่ใช่พืชที่สามารถกินแมลงได้โดยตรง เพียงแต่กินมูลของสัตว์และแมลงที่มากินแมลงที่ติดกับดักอีกที เป็นสภาวะความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน **

พืชในอำพัน
Roridula ในอำพัน

โรริดูลา พืชยุคบรรพกาล

การวิวัฒนาการดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจกระบวนการการปรับตัวของพืชกินแมลงเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือเรื่องการมีอยู่ของพืชกินแมลงในยุคโบราณมากนัก

แต่ไม่นานมานี้ มีการค้นพบซากฟอสซิลของพืชกินแมลงในอำพัน (amber) ในเหมืองของประเทศรัสเซีย และนักพฤกษศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าฟอสซิลที่อยู่ในอำพันดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างของโรริดูลา ซึ่งทำให้เกิดสมมติฐานที่ว่าโรริดูลานั้นอาจมีอยู่มาแล้วหลายล้านปี โดยอำพันที่ถูกพบในเหมืองในรัสเซียนั้นแสดงให้เห็นถึงฟอสซิลของพืชชนิดหนึ่งที่มีการผลิตยางไม้ออกมาจากปลายก้านเล็ก ๆ คล้ายโรริดูลา และคาดว่ามีอายุระหว่าง 35 ถึง 47 ล้านปี หรือในยุคที่เรียกว่า Eocene นั่นเอง การค้นพบนี้จึงทำให้เกิดความตื่นเต้นในวงการพฤกษศาสตร์อย่างมาก

พืชกินแมลง
แมลงมวนเพชฌฆาต หนึ่งในแมลงไม่กี่ชนิดที่ไม่ติดกับดักของโรริดูลา

โรริดูลา ถิ่นกำเนิด

ปัจจุบัน โรริดูลาจัดเป็นพืชกินสัตว์ (carnivorous plants) และถูกเรียกว่าเป็นพุ่มไม้จับแมลง (Flycatcher Bush) มีลักษณะเป็นไม้พุ่มยืนต้นที่ปกคลุมไปด้วยขนเล็ก ๆ มีน้ำยางไม้กระจายอยู่และท่ามกลางแสงแดดในธรรมชาติ น้ำยางเหล่านั้นจะสะท้อนแสงระยิบระยับเป็นประกายอย่างสวยงาม

โรริดูลา พบอยู่ในพื้นที่ เคปโพรวินซ์ (Cape Province) ของแอฟริกาใต้ มีทั้งหมด 2 สายพันธุ์ คือ Roridula gorgonias และ Roridula dentata. เป็นไม้พุ่มยืนต้นชนิดเดียวที่จัดเป็นพืชกินสัตว์ในปัจจุบัน มีกิ่งก้านเป็นเนื้อไม้ ส่วนยางไม้มีลักษณะเหนียวข้นคล้ายกับยางของต้นสน

ปัจจุบันยางของโรริดูลาจัดเป็นยางไม้ที่มีความเหนียวข้นมากที่สุดในกลุ่มพืชกินสัตว์ทุกชนิด สามารถดักจับได้ตั้งแต่แมลงไปจนถึงนกเล็ก ๆ แต่มีแมลงชนิดหนึ่งคือแมลงกลุ่มมวนเพชฌฆาต (Assassin bug- Pameriea sp) ที่มีภูมิต้านทานต่อยางของโรริดูลาโดยเฉพาะ ทำให้พวกมันสามารถไต่ไปรอบ ๆ และกินเหยื่อที่ติดอยู่กับโรริดูลา จากนั้นจึงถ่ายเป็นปุ๋ยให้แก่ใบของพืช

พืชกินแมลง
R. gorgonias

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พุ่มโรริดูลาที่โตเต็มวัยสามารถสูงได้ถึง 5-6 ฟุต ใบมีความยาวประมาณ 3 นิ้ว มีหนวดยาวบาง ๆ รอบ ๆ และตรงปลายปล่อยยางไม้ข้นเหนียวออกมา

น้ำยางดังกล่าวนั้นถูกผลิตจากต่อมที่อยู่บริเวณตรงปลายก้านเล็ก ๆ บนใบเหล่านั้น ดอกมีสีชมพู จำนวน 5 กลีบและมักออกดอกส่วนใหญ่ในระหว่างช่วงกลางถึงปลายฤดูหนาว ทั้งนี้อาจพบดอกได้จนถึงต้นฤดูใบไม้ผลิจำนวนมาก

โรริดูลาทั้งสองสายพันธุ์นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมากเพียงแต่ R. Dentata นั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีใบลักษณะคล้ายกับฟันเลื่อย ส่วน R. gorgonias จะมีดอกมากกว่า ทั้งสองสายพันธุ์เติบโตได้ดีในสภาพอากาศแบบ เมดิเตอเรเนี่ยน (zone 10) ชอบอากาศอบอุ่น ชื้น มีแสงแดดจ้า เติบโตได้ดีในดินร่วนหยาบ ระบายน้ำได้ดี ในฤดูหนาวจะชอบอากาศเย็นและแห้ง สามารถทนต่อความเย็นและอุณหภูมิต่ำได้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งทนความเย็นต่ำสุดได้ในระดับ 22°F (-5°C)

พืชกินแมลง

การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

โรริดูลานั้นขยายพันธุ์ได้ดีด้วยเมล็ด และจะต้องเพาะปลูกในสภาวะที่มีแสงแดดเพียงพอ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจนานจนถึง 1 ปี สามารถเก็บเมล็ดแห้งไว้ได้นานหลายปี ขยายพันธุ์ได้ดีในพื้นที่ที่่มีไฟไหม้ป่าเพราะจะทำให้ไม่ถูกพืชอื่น ๆ แย่งอาหารและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ควันไฟนั้นยังช่วยกระตุ้นให้เมล็ดโรริดูลางอกได้ดีขึ้นอีกด้วย!

โรริดูลาทั้งสองสายพันธุ์สามารถเพาะพันธุ์ด้วยเมล็ดได้ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญช่วงที่เหมาะที่สุดคือช่วงที่มีอากาศอบอุ่นในตอนกลางวันและเย็นลงในตอนกลางคืน(ใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่เดิม) หรืออาจปลูกในโรงเรือนที่แสงแดดส่องถึงได้และควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นๆ

การขยายพันธุ์โรริดูลาด้วยการปักชำนั้นพบว่าประสบความสำเร็จอยู่บ้างถ้าหากทำภายใต้อากาศที่อบอุ่นและมีความชื้นเพียงพอ โดยจะต้องวางกิ่งไว้ในร่มและหลีกเลี่ยงแสงแดดแรง ๆ แต่การงอกของรากจะมีอัตราน้อยกว่าการเพาะเมล็ดและต้นมีความแข็งแรงน้อยกว่าอีกด้วย เมื่อพืชออกดอกแล้วจะต้องทำการผสมเกสรเพื่อเกิดเป็นเมล็ดที่จะนำไปขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่จะใช้เวลาหลายเดือนกว่าเมล็ดดังกล่าวจะโตเต็มที่และพร้อมต่อการนำไปปลูก

โรริดูลา
R. gorgonias

ปัจจัยที่ควรรู้หากคุณจะเลี้ยงโรริดูลา

ถึงแม้โรริดูลาจะเป็นพืชในโซนแอฟริกาแต่การเลี้ยงโรริดูลาในประเทศไทยก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทางผู้เขียนได้รวบรวมปัจจัยต่างๆที่ต้องรู้หากคุณอยากจะเลี้ยง ดังนี้

1. แสง-น้ำ-ความชื้น-อุณหภูมิ

โรริดูลาจำเป็นต้องได้รับแสงเต็มวัน อย่างน้อยสุดครึ่งวัน น้ำที่ใช้รดต้องเป็นน้ำสะอาด(น้ำประปาที่ผ่านถังพักน้ำมาระยะหนึ่งหรือน้ำกลั่น) ระดับความชื้นปานกลาง อากาศต้องถ่ายเท พืชชนิดนี้ชอบอุณหภูมิต่ำกว่า 38°C

2. สถานที่ปลูก

กลางแจ้งหรือในโรงเรือนเพื่อให้แสงแดดส่องอย่างเพียงพอ

3. ดินปลูก

การเพาะปลูกในกระถางนั้นควรใช้พีทมอส หรือสเเฟ็กนั่มและทรายหยาบหรือเพอร์ไลท์ในอัตรา 1 – 1 (บางแหล่งแนะนำเป็นอัตราส่วนระหว่างพีทกับกรวดที่ 2-1 ) หากอากาศหนาวระวังอย่าให้ดินเปียกชื้นมากเกินไปเพราะจะทำให้รากเน่าได้

4. การให้ปุ๋ย-แมลง

แมลงวันผลไม้ไร้ปีกเป็นอาหารที่ดีอย่างมากให้แก่โรริดูลา แต่หากไม่สามารถสร้างเรือนเพาะชำที่มีมวนเพชฌฆาตคอยย่อยสลายอาหารให้แก่พืชชนิดนี้แล้วจะต้องให้อาหารเสริมอื่นแทน ซึ่งผู้เพาะปลูกอาจใช้ปุ๋ย 20-0-20 ก็ได้ ขอเพียงมีไนโตรเจนสูงและฟอสฟอรัสต่ำ และคอยเปลี่ยนดินให้บ่อย ๆ นอกจากนี้ผู้เพาะปลูกอาจให้ปุ๋ยทางใบในสภาวะอากาศที่อบอุ่นได้ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ (ทดสอบปุ๋ยกับกิ่งเล็ก ๆ และทิ้งไว้สัก 1-2 วันก่อนเพื่อดูว่าปุ๋ยจะทำให้ใบไหม้หรือไม่) ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องหลีกเลี่ยงอย่าให้ใบโดนหยดน้ำจนเปียกแฉะเป็นเวซึ่งจะทำให้ใบเปลี่ยนสีและไม้เสียหายได้

*ทริคเพื่อเร่งการงอกของเมล็ด 

เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วเมล็ดโรริดูลาจะงอกหลังจากเกิดไฟไหม้ป่า ดังนั้นเพื่อให้อัตราการงอกเมล็ดมีมากขึ้น ผู้เพาะปลูกควรลงเมล็ดในดินตื้น ๆ หลังจากลงเมล็ดในดินแล้ว ผู้เพาะปลูกอาจจำลองสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติได้โดยการวางเศษใบไม้แห้ง หญ้าแห้งหรือกิ่งไม้แห้งรอบ ๆ และจุดไฟรอบกระถาง จากนั้นใช้ภาชนะครอบทิ้งไว้เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เมล็ดได้ดูดซับควันเอาไว้ แต่จะต้องระมัดระวังอย่าให้ความร้อนทำให้เมล็ดพันธุ์เสียหาย คอยควบคุมไม่ให้ไฟลุกโชนหรือแรงมากเกินไปในระหว่างทำการรมควัน นอกจากนั้นแล้วอาจจะใช้ควันเหลว (liquid smoke) แทนก็ได้ โดยควันเหลวจะช่วยทำให้เมล็ดมีโอกาสงอกได้มากขึ้นเช่นกัน

โรริดูลา
R. gorgonias

5. กระถางปลูก

หลังจากที่เมล็ดงอกแล้วควรแยกปลูกโดยใช้ดินปลูกในอัตราส่วนเดิมพร้อมกับขยายขนาดกระถางให้ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะ R. gorgonias ที่มีรากค่อนข้างยาว จากนั้นรักษาสภาวะแวดล้อมเอาไว้เช่นเดียวกับตอนเพาะเมล็ดคือ มีแสงแดดส่องถึงและระบายน้ำได้ดีมิเช่นนั้นอาจเกิดเชื้อราได้ง่าย

หากพบว่าต้นโรริดูลาติดเชื้อราควรรีบตัดส่วนที่เสียหายทิ้งทันที จากนั้นทายารักษาเชื้อราและนำต้นไม้ไปรับแสงแดด วางไว้ในที่ที่มีการไหลเวียนของอากาศบริสุทธิ์และปลอดโปร่งอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้คือเพลี้ยไฟ ดังนั้นควรหายากำจัดแมลงที่เหมาะสมเพราะเพลี้ยไฟอาจทำให้พืชแคระเเกร็นได้

โรริดูลา
R. Dentata

บทส่งท้าย

โรริดูลาจัดเป็นไม้ปราบเซียน เนื่องจากในสภาพอากาศประเทศไทยนั้นเลี้ยงได้ยาก ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงและควบคุบตัวแปรต่างๆค่อนข้างสูง มีความซับซ้อนในเรื่องการดูแลอยู่มาก เกิดเชื้อราได้ง่าย ด้วยความที่เป็นพืชที่เติบโตช้า ขยายพันธุ์ได้ยาก แต่ก็เป็นที่ต้องการของนักสะสมพืชกินแมลงอย่างมาก ส่งผลให้โรริดูลามีราคาที่ค่อนข้างสูงในท้องตลาดเมื่อเทียบกับพืชกินแมลงอื่น ๆ นั่นเอง 

***หากเป็นนักปลูกมือใหม่ที่อยากเลี้ยงพืชกินแมลงที่มีลักษณะคล้ายๆกันกับโรริดูลา แต่เลี้ยงได้ง่ายกว่ามาก ทางผู้เขียนแนะนำให้เลี้ยง หยาดน้ำค้าง จะดีกว่าครับ***

References

RECENT POSTS