ต้นประดู่ อัญมณีแห่งไม้ป่า

ต้นประดู่
สารบัญบทความ
ต้นประดู่

ต้นประดู่นับเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทยมาช้านาน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการปรากฎนามในเพลงประจำกองราชนาวีไทยที่ประพันธ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว นอกจากจะแสดงถึงประวัติของต้นไม้ชนิดนี้ ยังแสดงถึงความสำคัญของต้นประดู่ที่อยู่คู่ชาวสยามมาแต่อดีตกาลอีกด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นประดู่

ดอกประดู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นประดู่คือ Pterocarpus indicus Willd

ชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ อาทิเช่น ประดู่อังสนา(กลาง) ประดู่บ้าน(กลาง) ดู่บ้าน(เหนือ) ดู่ป่า อะนอง หรือดู่ เป็นต้น

ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Burma Padauk ลักษณะเป็นพรรณไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางถึงใหญ่ โดยความสูงมากที่สุดประมาณ 10 – 30 เมตร(ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) โดยมีลักษณะดังนี้

  • ลำต้น สีผิวเปลือกจะเป็นสีดำ หรือเทา ลำต้นมักมีลักษณะเป็นพูไม่กลมและสามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้ค่อนข้างกว้าง มีเรือนยอดทึบที่สามารถแตกเป็นสะเก็ดร่องตื้น ๆ ได้เป็นจำนวนมาก
  • ใบ มีลักษณะเป็นช่อแตกออกจากปลายกิ่ง มีใบย่อยประกอบกันประมาณ 6 – 12 ใบ ใบเป็นรูปมนรีส่วนปลายแหลมแต่ส่วนโคนมน ขอบใบเรียบและมีสีเขียวเป็นมัน
  • ดอก จะออกช่วงปลายฤดูฝน ลักษณะเป็นช่อบริเวณโคนก้านใบ หรือปลายกิ่ง ช่อดอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่เกิดจากดอกขนาดเล็ก ๆ รวมกัน สีเหลืองสดใส และยังมีกลิ่นหอม ดอกจะบานและโรยพร้อม ๆ กัน ส่วนผลจะมีขนเล็ก ๆ ปกคลุม ขนาดโตประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร
ใบประดู่

ประดู่มีกี่ชนิด

พันธุ์ไม้ของต้นประดู่ ในปัจจุบันมีหลากหลายชนิด ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย และสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมี 4 ชนิดที่นิยมปลูก ดังนี้

  1. สายพันธุ์ดั้งเดิม ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pterocarpus macrocarpus Kurz. อยู่ในวงศ์ Papilionoideae เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ 15 – 30 เมตร ลำต้นตั้งตรงและไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขาเท่าใดนัก เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลออกดำและแตกเป็นระแหง เปลือกชั้นในจะมีน้ำยางสีแดง ช่อดอกจะออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบเป็นช่อดอกขนาดใหญ่ ส่วนดอกมีสีเหลืองมีจำนวน 5 กลีบ และมีกลิ่นหอมแรง โดยออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ
  2. ประดู่บ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pterocarpus indicus Willd. อยู่ในวงศ์ Papilionoideae เป็นประดู่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่ได้นำมาเพาะพันธุ์ในประเทศไทยมานานแล้ว ความสูงของต้นประดู่พันธุ์นี้คือ 20 – 25 เมตร กิ่งก้านจะแตกออกเป็นทรงพุ่มกว้าง เปลือกของลำต้นมีสีเทาที่แตกเป็นร่องและไม่มียางไม้สีแดง ช่อดอกเล็กกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และออกดอกได้ดกกว่า แต่ยังมีสีเหลืองและกลิ่นหอมแรงเช่นเดียวกัน ได้รับความนิยมในการปลูกมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมเพราะลำต้นไม่สูงมากยัก ชื่อเรียกอื่น ๆ เช่นประดู่กิ่งอ่อน ดู่บ้าน ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Angsana Norra หรือ Malay Padauk
  3. ประดู่แดง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Phyllocarpus septentrionalis Donn. Smith. ส่วนในภาษาอังกฤษจะเรียก Monkey Flower Tree อยู่ในวงศ์ Caesalpinioideae เป็นประดู่ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศกัวเตมาลา ในทวีปอเมริกากลาง คาดว่าเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนของดอกจะเป็นสีแดงสด และบานไม่พร้อมกันทั้งช่อ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
  4. ประดู่แขก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo Roxb. อยู่ในวงศ์ Fabaceae มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เชื่อกันเป็นชนิดเดียวกับปรากฎในพระไตรปิฎก มีอีกชื่อว่า ประดู่ลาย โดยลำต้นจะไม่สูงมากนักประมาณ 10 – 25 เมตร และดอกจะมีสีเหลืองอ่อนจนเกือบขาว ภาษาอังกฤษเรียก South Indian Redwood, Sissoo
ประดู่แดง
ประดู่แดง (Monkey Flower Tree)

ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลของต้นประดู่

ความเชื่อของคนไทยโบราณว่ากันว่าบ้านใดที่ปลูกต้นประดู่ไว้ที่บ้านจะช่วยให้เกิดพลังส่งเสริมความยิ่งใหญ่ เพราะต้นประดู่สื่อถึงความพร้อม การร่วมมือร่วมใจกัน และส่วนของแก่นไม้ยังนิยมนำมาใช้ทำเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องเสียงประเภทระนาด ทำให้ไม้ชนิดนี้มีความหมายสื่อถึงความแข็งแกร่ง แข็งแรง

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การปลูกต้นประดู่ให้คุณกับผู้ปลูกได้ดี จะต้องพิจารณาทิศทางในการปลูกและพื้นที่ที่จะปลูก โดยพื้นที่ควรมีขนาดกว้างขวางเพียงพอ เพราะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่โตเร็ว พุ่มใบหนา สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้กว้างขวาง และเพื่อร่มเงาที่ดีควรปลูกทางทิศตะวันตกของบ้าน เพื่อให้กิ่งก้านและร่มเงาของต้นประดู่สามารถปกป้องความร้อนให้บ้านได้เป็นอย่างดี

คุณสมบัติที่น่าสนใจของไม้ประดู่

ไม้ประดู่นับเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีคุณภาพดี เพราะมีเนื้อไม้แข็งแรง โดยเนื้อไม้ค่อนข้างละเอียดในระดับปานกลาง อีกทั้งยังทนต่อปลวกและแมลงกัดแทะต่าง ๆ มีสีสันสวยงาม ลวดลายไม้มีความสวยงามเฉพาะตัว

หากได้รับการตกแต่งหรือขัดเงาให้ดีก็สามารถนำไปใช้สร้างบ้านเรือน ทำส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้านอย่างฝาบ้าน พื้นบ้าน ทำเสา คาน หรือเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้อย่างด้ามมีด หรือทัพพี คนโบราณยังนิยมนำมาใช้ทำยานพาหนะชนิดต่าง ๆ อย่างเกวียน และเรือ เพราะลักษณะเนื้อไม้ของประดู่มีคุณสมบัติทนต่อน้ำเค็มได้ดี

ปุ่มประดู่
ปุ่มประดู่

ในต้นประดู่บางต้นยังมีปุ่มตามลำต้นที่เรียกว่า ปุ่มประดู่ ซึ่งเป็นไม้ในแบบที่พบได้ยาก มีสีน้ำตาลแดงคล้ำ ถือเป็นส่วนที่มีคุณภาพสูงและสวยงามเป็นเอกลักษณ์ จึงมีราคาแพงขึ้นไปอีก

ตามบ้านเรือนและอาคารสถานที่ต่าง ๆ ยังนิยมปลูกต้นประดู่มาปลูกเป็นไม้ประดับเพราะสามารถให้ร่มเงาและให้ความสวยงามได้ดี ช่วยกำจัดอากาศเสีย กรองฝุ่นละออง และกันลมกันเสียงได้ดี อีกทั้งยังปลูกและดูแลรักษาได้ง่ายอีกด้วย

ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลี้ยงต้นประดู่

  1. แสงแดด ต้นประดู่ชอบแสงแดดจัด จึงเหมาะกับการปลูกกลางแจ้ง หรือบริเวณที่ได้รับแสงตลอดทั้งวัน
  2. น้ำ เป็นพืชที่ต้องการปริมาณน้ำไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน ประมาณ 5 – 7 วัน/ครั้ง
  3. ดิน ต้นประดู่ชอบดินร่วนซุย จึงควรหมั่นพรวนดินและกำจัดวัชพืช
  4. ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก็ได้ ในอัตราส่วน 1 – 2 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4 – 5 ครั้ง หรือหาใส่ปุ๋ยเคมีควรเป็นสูตร 15-15-15 ในอัตรา 300 – 500 กรัม/ต้น ปีละ 3 – 4 ครั้ง
  5. โรคและศัตรู พบว่าต้นประดู่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช เพราะมีความทนทานตามสภาพแวดล้อมได้ดี
  6. ระยะเวลาในการเตรียมกล้าไม้ การเตรียมกล้าไม้นิยมใช้การเพาะเมล็ด หากสงสัยว่าต้นประดู่โตเร็วไหมจะขึ้นกับต้นกล้าที่แข็งแรงเป็นสำคัญ โดยควรใช้กล้าที่อายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งจะมีความสูงประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร
ไม้ประดู่

ราคาไม้ประดู่

  1. ต้นกล้า กรณีไม้กล้าราคาจะอยู่ที่ 20 – 100 บาท ขึ้นกับอายุของต้นกล้าและสายพันธุ์ของประดู่
  2. เนื้อไม้ ราคาเนื้อไม้ที่แปรรูปพร้อมใช้งานจะขึ้นกับลายไม้แต่ละแผ่น เพราะไม้ประดู่แต่ละต้นจะมีลายไม้ที่แตกต่างกัน เกรดต่างกัน ความหนาของแก่น และขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นไม้ด้วย เกรดทั่วไปจะอยู่ที่ 10,000-40,000 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยราคาสูงสุดอาจอยู่ที่ 100,000 บาทต่อไม้ 1 แผ่นเลยทีเดียว

บทสรุป

ด้วยราคาและคุณประโยชน์ต่าง ๆ เช่นนี้ทำให้ประดู่เป็นไม้เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเพาะเลี้ยงได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากอีกด้วย หรือจะนำมาจัดสวนเพื่อชมดอกสวย ๆ พร้อมกลิ่นหอม ๆ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

RECENT POSTS