พีทมอส วัสดุปลูกทางเลือกเพื่อการเกษตร คืออะไรและใช้ปลูกอะไรได้บ้าง

พีทมอส
สารบัญบทความ
พีทมอส

หลังจากรู้จัก ดินวิทยาศาสตร์กันในบทความที่แล้ว เรามารู้จักอีกหนึ่งวัสดุที่นิยมอย่าง พีทมอส (Peat Moss) ก็นับเป็นวัสดุปลูกจากธรรมชาติคุณภาพสูงที่ได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะเป็นวัสดุปลูกคุณภาพดี มีความสะอาดและปราศจากสิ่งเจือปน ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคในพืช ทั้งยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพของดินปลูกให้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถใช้พีทมอสเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย ทั้งการใช้เพาะพันธุ์เมล็ดหรือเพาะพันธุ์ต้นกล้า ใช้ผสมกับดินธรรมชาติหรือวัสดุปลูกอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูก ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของพันธุ์พืช ทำให้พืชแข็งแรงและเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

พีทมอส คือ

พีทมอส คืออะไร

พีทมอส (Peat Moss) คือ อินทรียวัตถุชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติ จากกระบวนการทับถมและย่อยสลายของพืชและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลมอสโดยเฉพาะสแฟกนั่มมอส (Sphagnum Moss) จึงทำให้พีทมอสถูกเรียกอีกชื่อว่า สแฟกนั่ม พีทมอส (Sphagnum Peat Moss) โดยกระบวนการทับถมและย่อยสลายในธรรมชาตินี้กินระยะเวลายาวนานหลายพันปี จนได้พีทมอสที่มีคุณสมบัติและลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละระดับชั้นความลึก

พีทมอสมักพบได้ในเขตเมืองหนาว เช่น ประเทศแคนาดา รัสเซีย เยอรมัน สวีเดน และประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง บึง หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของพีทมอสจึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกเป็นครั้งแรกในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นวัสดุปลูกที่ถูกใช้เพื่อการเกษตรในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

พีทมอส มีกี่ประเภท

เนื่องจากพีทมอสเกิดขึ้นจากกระบวนการทับถมและย่อยสลายของพืชตระกูลมอส รวมถึงพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นระยะเวลานานหลายพันปี จึงสามารถจำแนกพีทมอสที่มีการทับถมในแต่ละชั้นออกจากกันด้วยการใช้ระดับความชื้นและระดับการย่อยสลาย โดยในช่วงปี ค.ศ. 1926 Lennart Von Post ได้ทำการศึกษาและจำแนกดินพีทมอสออกเป็น 10 ระดับ (Von Post scale) ไล่เลียงตั้งแต่ระดับชั้น H1 ที่เป็นชั้นบนสุดของพีทมอสที่ยังไม่มีการย่อยสลาย สามารถมองเห็นเป็นเส้นใยของพืชได้อย่างชัดเจน ไล่ระดับลงไปจนถึงชั้น H10 ที่เกิดกระบวนการการย่อยสลายขึ้นอย่างสมบูรณ์ ทำให้ดินพีทมอสในชั้น H10 มีเนื้อแน่นละเอียด และมีคุณสมบัติในการกักเก็บความชื้นได้ดีมากที่สุด 

นอกไปจากการจำแนกพีทมอสออกเป็นชั้น ๆ ตามระดับความชื้นและความสมบูรณ์ของการย่อยสลาย (H1-H10) แล้วนั้น ยังสามารถจำแนกพีทมอสออกจากกันด้วยการใช้สีและความละเอียดของเนื้อพีทมอส โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ดินพีทมอส
สีของพีทมอสยิ่งเข้ม ราคายิ่งสูง
  1. พีทมอสสีขาว (White Peatmoss) อยู่ในชั้น H1-H3 เป็นพีทมอสที่อยู่ในชั้นด้านบน มีการทับถมน้อย เกิดกระบวนการย่อยสลายเพียงบางส่วน เนื้อพีทมอสในชั้นนี้จะค่อนข้างหยาบและโปร่ง มีสีสว่างมากที่สุดโดยเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ด้วยคุณสมบัติของพีทมอสสีขาวที่มีเนื้อค่อนข้างโปร่งและร่วน ช่วยเพิ่มช่องว่างและอากาศให้กับดินปลูก จึงนิยมนำมาใช้เพื่อการปลูกพันธุ์ไม้หรือเรียกได้ว่าเป็นพีทมอสแบบปลูก
  2. พีทมอสสีน้ำตาล (Brown Peat moss) อยู่ในชั้น H4-H6 เป็นพีทมอสที่อยู่ในช่วงกึ่งกลางของกระบวนการทับถม มีระดับการย่อยสลายระดับปานกลางถึงสูง มองเห็นเส้นใยได้เพียงบางส่วน สีของพีทมอสในชั้นนี้จะเข้มขึ้น น้ำที่บีบออกมาจะมีสีเข้มกว่าพีทมอสชั้นสีขาว
  3. พีทมอสสีน้ำตาลเข้ม หรือพีทมอสสีดำ (Black Peatmoss) ชั้น H7 เป็นต้นไป เป็นพีทมอสในระดับชั้นลึกและมีกระบวนการย่อยสลายที่สมบูรณ์มากที่สุด มองเห็นเส้นใยได้น้อยมากหรือแทบจะไม่เห็นเลย มีเชื้อโรคและสิ่งเจือปนน้อยมาก พีทมอสในชั้นนี้เนื้อจะแน่นละเอียด สามารถกักเก็บน้ำหรือความชื้นได้ดีมาก แต่มีคุณสมบัติเนื้อโปร่งและไม่แน่นตอนเปียกเหมือนอย่างดินธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงนิยมใช้พีทมอสสีดำเพื่อการเพาะต้นกล้าหรือเมล็ดพันธุ์ เรียกว่า พีทมอสสำหรับเพาะเมล็ด
พีทมอส ประโยชน์

ประโยชน์ของพีทมอส

พีทมอสมีคุณสมบัติที่โดดเด่น และเหมาะสำหรับการใช้เพื่อเป็นวัสดุปลูก ดังนี้

  • ด้วยคุณสมบัติของพีทมอสที่เป็นเนื้อโปร่งและร่วน จึงช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความร่วนซุย ทำให้ดินสามารถถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดีมากขึ้น นอกไปจากนี้พีทมอสยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในเนื้อดิน ทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของพันธุ์กล้าเพิ่มมากขึ้น ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์และแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยในการเติบโตของพันธุ์พืชได้เช่นเดียวกัน 
  • พีทมอสมีลักษณะโครงสร้างที่โปร่ง มีช่องว่างอากาศมาก ทำให้มีคุณสมบัติในการดูดซับและกักเก็บความชื้นได้มากกว่า 10 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ไม่ทำให้ดินเปียกแฉะและแน่นจนเกินไปจนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช 
  • พีทมอสเป็นวัสดุปลูกที่มีความสะอาดและปลอดเชื้อสูง ช่วยลดโรคของพืชที่เกิดขึ้นจากเชื้อรา แบคทีเรียหรือแมลงต่าง ๆ เพราะพีทมอสผ่านกระบวนการทับถมและย่อยสลายในธรรมชาติมาเป็นเวลาหลายพันปี ทั้งยังผ่านกระบวนการทำความสะอาดและการอบฆ่าเชื้อจนแห้ง จึงทำให้พีทมอสเป็นวัสดุปลูกที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูง
  • พีทมอสที่เกิดจากกระบวนการหมักทับถมในธรรมชาติ มีค่า pH มีความเป็นกรดอ่อน ๆ (ประมาณ 3.5-6.0) ทำให้พีทมอสเหมาะกับการปลูกพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพเป็นกรด เช่น บลูเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี หรือดอกคาร์มิเลีย 
  • พีทมอสช่วยลดการใช้ปุ๋ยมากเกินจำเป็น โดยพีทมอสจะช่วยชะลออัตราการสลายตัวของปุ๋ย ทำให้ปุ๋ยสลายตัวอย่างช้า ๆ ช่วยขยายระยะเวลาการออกฤทธิ์ของปุ๋ยให้ยาวนานยิ่งขึ้น 

วิธีการใช้พีทมอส

พีทมอสที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพให้มีความเหมาะสม สามารถนำมาใช้งานทางด้านการเกษตรและการเพาะปลูกได้อย่างหลากหลาย เช่น 

  • ใช้พีทมอสเพื่อปรับคุณภาพดินให้มีความชื้นและมีความร่วนซุย เหมาะสมกับการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น ด้วยการผสมพีทมอสเข้ากับดินธรรมชาติ (ดินทราย ดินเหนียว) ในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น ใช้พีทมอส 1 ส่วน ผสมเข้ากับดินธรรมชาติ 2 ส่วน เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพและโครงสร้างของดินให้ร่วนโปร่ง มีความชุ่มชื้นในระดับที่เหมาะสม รวมถึงสามารถระบายน้ำและอากาศได้ดีมากยิ่งขึ้น 
  • ใช้พีทมอสสำหรับการเพาะเมล็ดพันธุ์หรือเพาะต้นกล้า โดยนิยมใช้พีทมอสสีน้ำตาลเข้มหรือพีทมอสดำ ที่มีเนื้อค่อนข้างละเอียดและมีความชื้นสูงสำหรับการเพาะเมล็ด
  • ใช้พีทมอสสำหรับการปักชำกล้าไม้ หรือใช้ทำตุ้มตอนกิ่ง
พีทมอส ราคา

ข้อจำกัดและข้อควรระวังของพีทมอส

แม้ว่าพีทมอสจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นและเหมาะสมต่อการใช้เป็นวัสดุปลูกหลากหลายประการ แต่ทั้งนี้พีทมอสก็มีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังในการใช้งาน ดังนี้

  • ควรระมัดระวังไม่ให้พีทมอสที่ใช้ในการปลูกแห้งสนิท เพราะเมื่อพีทมอสแห้งจะใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อดูดซับของเหลวและกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างนั้นอาจทำให้เมล็ดพันธุ์หรือพืชขาดน้ำจนตายไปก่อนได้ วิธีแก้คือการเลือกใช้พีทมอสชนิดที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี หรือใช้พีทมอสผสมกับวัสดุปลูกอื่น ๆ เพื่อช่วยคงความชุ่มชื้นในดินมากยิ่งขึ้น เช่น เพอร์ไลท์ เวอร์มิคูไลต์ ขุยมะพร้าว ฯลฯ
  • พีทมอสเป็นวัสดุปลูกที่มีสารอาหารค่อนข้างต่ำและมีจุลินทรีย์ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชน้อย เนื่องจากพีทมอสเกิดจากการทับถมของพืชตระกูลมอสเป็นหลัก การใช้พีทมอสเป็นวัสดุปลูกเพียงชนิดเดียวอาจทำให้พันธุ์ไม้ได้รับสารอาหารจำเป็นไม่เพียงพอ จึงควรใช้วัสดุปลูกอื่น ๆ มาผสมกับพีทมอสเพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูก เช่น ดินธรรมชาติหรือปุ๋ยคอก เพื่อช่วยเสริมธาตุอาหารสำคัญให้ครบถ้วน และเหมาะกับการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น 
  • พีทมอสโดยส่วนใหญ่มีค่า pH ค่อนไปทางกรดอ่อน ๆ จึงควรศึกษาข้อมูลของเมล็ดพันธุ์หรือพืชที่ต้องการปลูกว่าเหมาะกับสภาพดินแบบไหน
  • พีทมอสมีราคาค่อนข้างสูง เพราะมีต้นทุนในการเก็บเกี่ยวและการขุดเจาะ ยิ่งเป็นพีทมอสในชั้นที่ลึกที่เนื้อละเอียดมากกว่าก็จะยิ่งมีราคาแพงขึ้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงต้นทุนในการผลิตและนำเข้าพีทมอส
  • ในปัจจุบันยังคงมีข้อถกเถียงระหว่างกันว่าการขุดเอาพีทมอสมาใช้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะการผลิตพีทมอสเพื่อทดแทนของเก่าที่ถูกใช้ไปจะต้องใช้ระยะเวลาในการทับถมและย่อยสลายนานหลายพันปี นอกไปจากนี้การทำเหมืองพีทมอสหรือการขุดเพื่อเอาพีทมอสมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม อาจมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซทั้ง 2 ตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน 

ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตพีทมอสจึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงคุณภาพของพีทมอสให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น ด้วยการเติมสารปรับแต่งค่าความเป็นกรด-ด่าง และการผสมธาตุอาหารหลักของพืชเข้าไปในพีทมอส เช่น ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) และธาตุอาหารเสริมอื่น ๆ ลงไปในพีทมอส เพื่อให้สามารถใช้พีทมอสเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลายและช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพันธุ์พืช รวมไปจนถึงการเพิ่มสารที่ช่วยในการดูดซับน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้พีทมอสแห้งมากเกินไป 

พีทมอส

บทสรุป

พีทมอสนับเป็นวัสดุปลูกคุณภาพเยี่ยม ด้วยคุณสมบัติที่ครบถ้วนทั้งความสะอาดและปลอดเชื้อ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคในพืช นอกไปจากนี้พีทมอสยังกักเก็บความชื้นไว้ในดินได้เป็นอย่างดีและยังช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้ก็ควรพิจารณาเลือกใช้ประเภทและปริมาณของพีทมอสให้มีความเหมาะสมกับเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์พืชที่ต้องการปลูกมากที่สุด เพื่อช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเพาะปลูกและทำให้พันธุ์พืชเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

References

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

  • หรือติมตามบทความพืชจัดสวนอื่นๆที่ https://wildmushrooms.ws/

RECENT POSTS