หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชที่สร้างหลุมพรางรอดักแมลง

หม้อข้าวหม้อแกงลิง
สารบัญบทความ
หม้อข้าวหม้อแกงลิง

ในปัจจุบันหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้กลายเป็นไม้ประดับที่ผู้คนให้ความนิยมกันเป็นอย่างมาก ด้วยรูปลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างไม่เหมือนใคร และยังเป็นพืชที่มีสีสันโดดเด่นสะดุดตา รวมทั้งขนาดของต้นที่ไม่ใหญ่มากสามารถจัดวางตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ต้องการได้สะดวก แต่การปลูกต้องรู้วิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้ต้นไม้มีความสวยงาม แข็งแรง และสามารถขยายพันธุ์ได้ต่อไป ดังนี้

ข้อมูลทั่วไปของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

หม้อข้าวหม้อแกงลิงจัดอยู่ในอาณาจักร: Plantae หมวด: Magnoliophyta ชั้น: Magnoliopsida อันดับ: Caryophyllales วงศ์: Nepenthaceae สกุล: Nepenthes (อ้างอิงข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)

หม้อข้าวหม้อแกงลิงจัดเป็นพืชดอกใบเลี้ยงคู่ มีมากกว่า 160 ชนิด(ไม่นับลูกผสม) กระจายพันธุ์ตามระบบนิเวศป่าเขตร้อนชื้น ตั้งแต่ทางใต้ของจีนจรดทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงตอนบนของออสเตรเลีย และยังพบประปรายตามส่วนอื่นๆอาทิเช่น ตะวันตกของมาดากัสการ์ เซเชลส์ ตอนใต้ของออสเตรเลียและนิวแคลิโดเนีย ตอนเหนือของอินเดียและศรีลังกา

หม้อข้าวหม้อแกงลิงจัดเป็นพืชที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตส (ประเภทที่สามารถส่งออกนอกประเทศแต่ต้องมีหนังสือรับรองการเพาะปลูกและส่งออก ซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ) ยกเว้นสายพันธุ์ N. khasiana และ N. rajah เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ สามารถส่งออกได้เฉพาะต้นที่ผ่านการขยายพันธุ์แบบเทียม (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ) หรือการส่งออกเพื่องานวิจัย

หม้อข้าวหม้อแกงลิง
N.lamii(Highland),N.lowii(Highland) และ N.rafflesiana(Lowland) ตามลำดับ

การจัดหมวดหมู่

การจัดหมวดสายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงจะแบ่งออกเป็น 2(+1) กลุ่มใหญ่ โดยใช้แหล่งที่พบตามระดับความสูงเหนือจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ดังนี้

  1. กลุ่มโลว์แลนด์(Lowland) เป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่แหล่งที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 0-3000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล อุณภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนที่ประมาณ 20-30°C ซึ่งกลุ่มนี้จะชอบอากาศร้อนชื้นสามารถเพาะเลี้ยงได้ไม่ยากสำหรับมือใหม่ เช่น N.mirabilis N.ampullaria N.truncata N.bicalcarata
  2. กลุ่มไฮแลนด์(Highland) 70% ของสายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่อาศัยในระดับความสูงตั้งแต่ 3000-10000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล อุณภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนที่ประมาณ 15-25°C เป็นกลุ่มที่ชอบสภาพอากาศเย็นและชื้นกว่ากลุ่มแรกมาก เป็นกลุ่มที่เลี้ยงได้ยากมากในสภาพอากาศบ้านเรา แต่ก็แลกมากับหม้อที่ขนาดใหญ่และสีสันสวยบาดตาจนน่าขนลุกกว่าเช่นกัน เช่น N.rajah N.diabolica
  3. กลุ่มก้ำกึ่ง โดยอยู่ที่ความสูงระดับก้ำกึ่งระหว่างแบบโลว์แลนด์กับไฮแลนด์ เช่น N.ventricosa N.tentaculata
nepenthes rajah
N.rajah(Highland) หนึ่งในสายพันธุ์ที่หม้อใหญ่ที่สุด

กลยุทธ์ในการดักเหยื่อของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

โครงสร้างที่โดดเด่นที่สุดของหม้อข้าวหม้อแกงลิงคือถุงดักแมลง โดยภายในของถุงดักแมลงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วน waxy zone อยู่บริเวณด้านบนของถุงดักแมลง ใช้ป้องกันไม่ให้แมลงหรือเหยื่อที่ตกลงไปในถุงดักแมลงหนีออกไปได้ และส่วน digestive zone เป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างของถุงดักแมลง ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อย (enzyme) เพื่อย่อยเหยื่อตัวเล็ก ๆ หรือแมลงที่ตกลงไปภายในถุงดักแมลง

กลวิธีการหลอกล่อให้เหยื่อตกลงไปในถุงดักแมลง คือการสร้างสรรค์ให้ถุงดักแมลงมีสีสันสวยงาม และมีต่อมน้ำหวานอยู่บริเวณฝาของถุงดักแมลง โดยต่อมน้ำหวานนี้จะกระจายอยู่ทั่วบริเวณฝาปิดของถุงดักแมลง ตัวน้ำหวานจะดึงดูดเหยื่ออย่างแมลง หรือสัตว์ที่มีขนาดเล็กให้เข้ามา บริเวณขอบปากของถุงดักแมลงมีลักษณะเป็นซี่ หรือ คลื่น ซึ่งมีสารคิวทินเคลือบอยู่ บริเวณนี้จึงมีความลื่นมาก เมื่อเหยื่อหลงเข้ามาดูดน้ำหวานและเข้ามาเกาะบริเวณขอบปากของถุงดักแมลงก็จะลื่นตกลงไปในถุงดักแมลงได้ และเมื่อตกเข้าไปแล้ว ความลื่นจะทำให้กลับขึ้นไปได้ยาก จากนั้นเหยื่อก็จะถูกย่อยสลายด้วยน้ำย่อยที่อยู่ภายในถุงดักแมลงต่อไป

ปัจจัยสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง

หม้อข้าวหม้อแกงลิงคือพืชชนิดหนึ่งที่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้ให้ออกหม้อและเจริญเติบโต โดยต้องเตรียมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ปริมาณแสง หม้อข้าวหม้อแกงลิงชอบแสงประมาณ 50-80 % และควรได้รับแสงแดดไม่น้อยกว่า 5 ชม. ต่อวัน แต่ต้องระวังแสงแดดที่จัดเกินไปด้วย
  • ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่เหมาะกับการปลูก Nepenthes truncate คือความชื้นประมาณ 50 % ไม่แฉะ แต่ต้องชื้น สามารถเพิ่มความชื้นได้โดยปลูกต้นไม้พวกเฟิร์น บีโกเนีย เพื่อเพิ่มความชื้นควบคู่กับหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้
  • การรดน้ำ สิ่งสำคัญสำหรับหม้อข้าวหม้อแกงลิงคือการทำให้ดินเปียกชื้น แต่ไม่แฉะอยู่เสมอ หากปล่อยให้ดินแห้งแม้แต่วันเดียวระบบรากของต้นไม้อาจเสียหายได้ เนื่องจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก
  • สายพันธุ์ เป็นสิ่งที่ต้องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก เพราะหม้อข้าวหม้อแกงลิงแต่ละชนิดชอบสภาพอากาศอุณหภูมิ,ความชื้น,แสง,วัสดุปลูก,น้ำ แตกต่างกันเนื่องด้วยมาจากแหล่งกำเนิดที่ต่างกัน บางสายพันธุ์จะชอบอากาศแห้ง อย่างเช่น N.truncata(ความชื้น 50%) บางสายพันธุ์จะชอบชื้น อย่างเช่น N.bicalcarata (ความชื้น 75-100%) เป็นต้น

ส่วนประกอบของดินที่ใช้ปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิง

หม้อข้างหม้อแกงลิง วิธีเลี้ยง

เครื่องปลูกสำหรับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่นิยมกันนั้น มีดังนี้

  1. ส่วนผสมระหว่างขุยมะพร้าว : กาบมะพร้าวสับ : ดินใบก้ามปู ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1
  2. ส่วนผสมระหว่างขุยมะพร้าว : ทรายหยาบ ในอัตราส่วน 2 : 1
  3. สามารถใช้สแฟกนั่มมอสหรือพีทมอสได้ เนื่องจากคุณสมบัตรดูดซับน้ำได้ดีและมีอายุการใช้งานนานกว่าขุยมะพร้าว ซึ่งราคาก็แพงกว่าขุยมะพร้าวด้วยเช่นกัน

ส่วนผสมของเครื่องปลูกควรเน้นวัสดุที่มีแร่ธาตุต่ำและโปร่ง แต่สามารถเก็บความชื้นได้ดี และยาวนาน เพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้นที่พอเหมาะให้ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้ทั้งวัน

สำหรับกระถางควรใช้กระถางพลาสติก ไม่แนะนำให้ใช้กระถางดินเผา เหตุก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการสะสมของแร่ธาตุที่เป็นอันตรายต่อหม้อข้าวหม้อแกงลิง

ขั้นตอนการปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิง

  1. เมื่อได้รับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมา ให้เตรียมเครื่องปลูกและกระถางที่เหมาะสมกับขนาดของต้นไม้ แนะนำให้เลือกขนาดที่ใหญ่กว่าต้นไม่พอสมควร และควรเปลี่ยนเครื่องปลูกทุก ๆ 1 – 2 ปี
  2. เมื่อนำต้นไม้ลงปลูกแล้ว ควรหาไม้หรือหลักมาปักเอาไว้ โดยผู้เชือกยึดไว้ให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ลำตันหัก โดยเฉพาะเมื่อหม้อดักแมลงมีขนาดใหญ่ โอกาสที่ลำต้นจะยิ่งรับน้ำหนักมากจนหักก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
  3. เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรรดน้ำให้ชุ่ม อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเริ่มปลูกควรนำต้นไม้ไปพักในที่ร่มรำไรนานประมาณ 3 – 5 วัน ก่อนเพื่อให้พืชปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่ใหม่ แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณแสงในภายหลัง วิธีนี้จะช่วยให้ต้นไม้แข็งแรงและสามารถทนแดดได้ดี

ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงนับเป็นไม้ประดับที่ปลูกไม่ยาก(ยากในบางสายพันธุ์) นอกจากปลูกเพื่อประดับบ้านแล้วยังช่วยจับแมลงได้อีกด้วย รับรองว่าจะช่วยให้บ้านและสวนของคุณมีมุมสวยแปลกตาที่น่าสนใจเลยทีเดียว

หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์

แหล่งอ้างอิง

RECENT POSTS