หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์ N. rajah(ราชา)สมญานามหม้อที่ใหญ่ที่สุด

หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์
สารบัญบทความ
หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์

Nepenthes rajah นั้น บางครั้งเป็นที่รู้จักในชื่อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์มาเลเซีย (Giant Malaysian Pitcher Plant) เป็นพืชกินสัตว์ วงศ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthaceae) มีลักษณะเป็นทรงเหยือก ขึ้นอยู่ตามพื้นผิวที่มีแร่ธาตุเฉพาะ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดบนภูเขาคินาบาลูและบริเวณรอบภูเขาเขตป่าอุทยานแห่งชาติตัมบูยูคอน ในซาบาห์ เกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย

การค้นพบ N. rajah

N. rajah ค้นพบครั้งแรกโดย Sir Hugh Low นักธรรมชาติวิทยาและผู้บริหารอาณานิคมชาวอังกฤษที่ตอนนั้นดูแลพื้นที่มาเลเซีย โดยเขาเก็บมาจากภูเขาคินาบาลู ปี 1858 ภายหลังพืชดังกล่าวถูกระบุและอธิบายโดย Joseph Dalton Hooker ในถัดมา ซึ่ง Hooker ตั้งชื่อพืชชนิดนี้เพื่อให้เกียรติแก่ James Brooke ทหารชาวอังกฤษ ผู้ถูกตั้งเป็นผู้นำ (Rajah) คนผิวขาวคนแรกของ ซาราวัค ซึ่งการขึ้นครอบครองนั้นเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษในช่วงเวลาดังกล่าว และตั้งแต่ปี 1881 ที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลและภาพแก่สายตาผู้คน หม้อข้าวหม้อแกงลิงราชาก็เป็นที่สนใจและเป็นที่ต้องการอย่างมากจนทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นตามมา

หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์

ข้อมูลทั่วไปของ Nepenthes rajah

Nepenthes rajah เป็นพืชที่ขึ้นอยู่บนภูเขาสูง ระดับความสูงที่ 1500-2650 เมตร อากาศอบอุ่นระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน และอากาศจะต้องเย็นลงในตอนกลางคืนระหว่าง 10-15 องศาเซลเซียส ไม่เช่นนั้นจะมีขนาดเล็กและไม่สวยงาม นอกจากนี้จะต้องมีความชื้นสูง ประมาณ 75% R.H. ในตอนกลางวันและเพิ่มขึ้นเป็น 90 % R.H. ในตอนกลางคืน มีแสงแดดส่องถึงอย่างเหมาะสมเพียงพอ

หม้อขนาดยักษ์

Nepenthes rajah นั้นสามารถเติบโตได้จนมีขนาดใหญ่ถึง 41×20 cm. สามารถจุน้ำได้ถึง 3.5 ลิตร มีของเหลวสำหรับย่อยอาหารถึง 2.5 ลิตร แต่ปกติแล้วจะพบที่ไม่เกิน 200 มิลลิลิตร พืชชนิดนี้จะค้นพบเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีพื้นผิวที่เรียกว่าดินเซอร์เพนทีน อันมีลักษณะร่วน ระบายน้ำ ชุ่มชื้นและเต็มไปด้วยแร่ธาตุเท่านั้น บางครั้งอาจพบดอกขนาดใหญ่สุดที่มีความยาวถึง 1 เมตรด้วย โดยดอกของมันมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย(หนึ่งต้นมีได้แค่หนึ่งเพศ) และด้วยความพิเศษและหายากนี้เอง ทำให้ Hooker ถึงกับกล่าวว่า Nepenthes rajah นั้นเป็นพืชที่โดดเด่นที่สุดที่เคยค้นพบขณะนั้น

แหล่งอาหาร

สำหรับการหาอาหารนั้น Nepenthes rajah คล้ายกับพืชกินสัตว์วงศ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงอื่น ๆ ที่จะมีถ้วยเหยือก (pitcher) ขนาดใหญ่โดดเด่น ลักษณะสีเหลืองอมเขียว กลีบนอกสุดของเหยือกมีสีม่วงแก่ ๆ หรือสีแดงโดยเหยือกนี้เองที่บรรจุของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นน้ำย่อยเอาไว้ ตัวเหยือกจะดักจับสัตว์หรือแมลงเล็ก ๆ เป็นอาหารให้แก่พืชชนิดนี้โดยดอกของมันจะส่งกลิ่นหอมหวานเพื่อล่อแมลงและสัตว์เล็ก ๆ เช่นแมลง กบ สัตว์เลื้อยคลาน นกขนาดเล็ก บางครั้งจะพบว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างหนูจมอยู่และย่อยสลายอยู่ข้างใน

นอกจากนี้ยังพบว่ามูลของสัตว์เล็ก ๆ อย่างหนูที่อาศัยอยู่บนต้นไม้รอบ ๆ ยังช่วยเป็นอาหารให้ Nepenthes rajah อีกด้วย โดยมันจะได้รับแร่ธาตุอย่างฟอสฟอรัสและไนโตรเจนที่เป็นสิ่งจำเป็นได้อย่างเพียงพอจากมูลสัตว์เหล่านี้ ด้านบนเหยือกจะมีฝาปิดเพื่อป้องกันน้ำฝนไหลเข้าสู่เหยือกจนเจือจางสารย่อยสลายที่อยู่ด้านใน

ปากขอบเหยือกจะมี เพอริสโทม (peristome) เป็นวงแหวนอยู่รอบ ๆ คอยป้องกันไม่ให้แมลงหนีหลุดออกจากกับดักไปได้ ปีกเล็ก ๆ คู่ขนานกันเหมือนขอบทางสองข้างลากยาวจากปากเหยือกไปจนถึงส่วนล่างของกับดักเพื่อนำทางให้แมลงประเภทที่ไต่อยู่ตามพื้นให้ไต่ขึ้นมาบนปากกับดักซึ่งต่างจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงอื่น ๆ ที่ขึ้นสูงเหนือจากพื้นดิน

หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์

N. rajah ความสำพันธ์กับสัตว์ในระบบนิเวศ

แม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะพืชนักล่าที่ย่อยสลายสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหาร แต่ Nepenthes rajah ก็ได้ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์เล็ก ๆ ที่อยู่ตามหน้าดิน หรือที่เรียกว่า อินฟาวนา (Infauna) เช่นพวกตัวอ่อนยุง แมงมุมปู ตัวอ่อนแมลงวัน ไร และปูบางชนิด ซึ่งแม้นักวิทยาศาสตร์จะยังหาข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับการพึ่งพาอาศัยนี้ไม่ได้ แต่ก็คาดการณ์ว่าเป็นการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันที่ได้ประโยชน์สองฝ่าย

ซึ่งสัตว์หน้าดินเหล่านั้นจะได้รับอาหารที่อยู่ในเหยือกของพืชชนิดนี้ ในขณะที่ทำหน้าที่ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายซากสัตว์และแมลงที่อยู่ข้างในเหยือกและลดจำนวนแบคทีเรียที่ไม่ดีได้อีกด้วย ศัตรูของพืชชนิดนี้คือมีแมลงบางชนิดที่กัดแทะใบของ Nepenthes rajah และสร้างความเสียหายให้กับใบบางส่วน และพวกลิงที่ชอบฉีกคุ้ยหาอาหารจากเหยือกของมัน จนบางครั้งก็ถูกเรียกว่า “’Monkey Cups”

N. rajah พืชที่ได้รับการคุ้มครอง

Nepenthes rajah ถือเป็นพืชที่กฎหมายห้ามเก็บออกจากป่า แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ช่วยเพาะเนื้อเยื่อของพืชขึ้นมาได้นั้นทำให้ราคาของ Nepenthes rajah และหม้อข้าวหม้อแกงลิงอื่น ๆ ไม่สูงอย่างที่เคยเป็น อีกทั้งยังมีการถูกลักลอบนำออกจากป่าน้อยลง แต่การเพาะขยายพันธุ์นั้นจะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญและมีการควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี

ต้น หม้อข้าวหม้อแกงลิง

การปลูก Nepenthes rajah

วัสดุปลูกที่เหมาะแก่การปลูกได้แก่ วัสดุกลุ่มสแฟ็กนั่มมอส (sphagnum moss) รวมไปถึง พีทมอส เพอร์ไลต์ เวอร์มิคูไลท์ ทราย หินลาวา หินภูเขาไฟ ชาร์โคล วัสดุจะต้องระบายน้ำได้ดีและใช้มอสในการรักษาความชื้นบริเวณราก แต่ห้ามให้แช่น้ำซึ่งจะทำให้รากเน่าเสียได้ ก่อนเพาะปลูกจะต้องแช่วัสดุจนเปียกชุ่มก่อนทำการปูลงในภาชนะ ซึ่งจะต้องเป็นภาชนะขนาดใหญ่เพื่อรองรับรากที่มีจำนวนมากของ Nepenthes rajah

จากนั้นจะต้องรดน้ำด้วยน้ำบริสุทธิ์(น้ำกลั่น,น้ำสะอาด)เพื่อป้องกันสารเคมีบางตัวที่จะไปรบกวนแร่ธาตุในดินและทำให้ดินปนเปื้อนสารเคมี ส่วนอาหารที่ให้กับพืชสามารถใช้เป็นแมลงเล็ก ๆ อย่างเช่นจิ้งหรีดที่หาซื้อได้ง่าย พร้อมกับเสริมแร่ธาตุ ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน และโพแทสเซียมอันเป็นสารอาหารสำคัญที่พืชจะต้องได้รับตามธรรมชาติ

Nepenthes rajah มีเงื่อนไขในการดูแลสูง และเติบโตช้า บางครั้งอาจใช้เวลาถึง 10 ปี! ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนสามารถเติบโตเป็นช่อเหยือกขนาดที่ผู้เพาะเลี้ยงต้องการได้ การเพาะในห้องทดลองหรือในโรงเรือนจะต้องติดแสงไฟให้ในระดับ 500–1000 วัตต์ ห่างจากตัวพืช 1-2 เมตร เป็นระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเพื่อให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นแม้จะหาได้ง่ายขึ้นแต่หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์ชนิดนี้ก็ยังมีราคาในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับพืชอื่น ๆ อยู่ในปัจจุบัน

References

บทความพืชกินแมลงชนิดอื่นที่น่าสนใจ

RECENT POSTS