หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยว(N.bicalcarata) พันธุ์ไม้แปลกจากเกาะบอร์เนียว

หม้อข้าวหม้อแกงลิง bicalcarata
สารบัญบทความ
หม้อข้าวหม้อแกงลิง bicalcarata

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยว หรือ Nepenthes bicalcarata (Fanged Pitcher Plant) เป็นพืชเหยือกเมืองร้อน(กลุ่มโลแลนด์) จัดอยู่ในสายพันธ์ุหม้อข้าวหม้อแกงลิงประเภท Appendix II โดย IUCN ตามอนุสัญญา ไซเตส (CITES) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง Appendix II ถือเป็นบัญชีสัตว์ป่าหรือพืชพรรณป่าที่เหลือค่อนข้างน้อยแต่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์

Nepenthes bicalcarata ลักษณะทั่วไป

หม้อข้าวหม้อแกงลิง

Nepenthes bicalcarata จัดเป็นพืชกินแมลง พบได้บนเกาะบอร์เนียว ในป่าพรุ ป่าเต็งรัง ทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะ ซึ่งทอดยาวไปทั่วรัฐซาราวัก ซาบาห์ กาลิมันตัน และบรูไน ชอบอากาศร้อน ชื้น มีแสงแดดส่องถึงโดยปกติจะพบได้ที่ความสูงไม่เกิน 300 เมตร แต่ก็เคยมีผู้ค้นพบในปี 1894 ที่ความสูงระดับ 700-950 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ซึ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวเป็นหนึ่งในสายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง แน่นอนว่าจุดเด่นของพืชคือมีเหยือกที่บรรจุของเหลวสำหรับดักเหยื่อเล็ก ๆ เช่นแมลงเอาไว้เป็นอาหาร สามารถขึ้นอยู่บนยอดไม้ในป่าที่สูงได้ถึง 20 เมตร ลำต้นหนาประมาณ 1.4 นิ้ว และมีฝาปิดด้านบนสำหรับกันของเหลวเช่นน้ำฝนไหลเข้ามาเจือจางในเหยือก

ลักษณะของเหยือกมีสีเขียวอ่อน เหลือง ส้ม และสีแดงเข้มอมม่วง แต่แม้จะมีขนาดใหญ่แต่เหยือกกลับไม่ใหญ่มากนัก ซึ่งเหยือกสามารถมีขนาดความสูงได้ประมาณ 25 เซนติเมตร กว้าง 16 เซนติเมตร เหยือกที่อยู่ด้านล่างจะมีปีกสองปีกขึ้นลากยาวด้านหน้าเหยือกตั้งแต่ฐานล่างขึ้นไปจนถึงขอบปากเหยือก ดอกของพืชชนิดนี้มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย(หนึ่งต้นสามารถมีได้แค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น) ก้านดอกอาจยาวได้ถึง 40 เซนติเมตรโดยดอกตัวเมียจะมีช่อที่สั้นกว่า และต้นหนึ่งสามารถออกดอกได้มากสุดประมาณ 15 ดอกด้วยกัน 

การค้นพบ Nepenthes bicalcarata

หม้อข้าวหม้อแกงลิง bicalcarata

ในปี 1873 โจเซฟ ดาลตัน ฮุ๊กเกอร์ คือคนแรกที่อธิบายเกี่ยวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยว โดยคนที่เก็บตัวอย่างมาคือ โอโดอาร์โด เบคคารี และ ฮิว โลว์ และเป็นที่รู้จักในอังกฤษโดยการแนะนำของนักสำรวจ เฟรดเดอริก วิลเลียม เบอร์บริดจ์ ในปี 1879 และในปี 1881 N. bicalcarata ก็เป็นที่ต้องการอย่างมากจนถูกเรียกว่า “The Gardeners’ Chronicle”

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวคือสายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่พิเศษอย่างมากชนิดหนึ่ง บริเวณฝาเหยือกมีลักษณะคล้ายกับดักหนู ส่วนเหยือกมีลักษณะทรงคล้ายกับถุงห้อยอยู่ บริเวณปากขอบเหยือก หรือที่เรียกว่า เพอริสโตม (Peristome) มีส่วนต่อขยายออกไปลักษณะคล้ายเขี้ยวงอกออกมาเหนือขอบปากเหยือก ห้อยอยู่ด้านใต้ฝาเหยือก และมีต่อมน้ำหวานขนาดใหญ่อยู่ด้านในซึ่งจะไหลหยดออกมาคล้าย ๆ กับพิษบนเขี้ยวของงู สิ่งนี้เองทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวโดดเด่นแตกต่างจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์อื่น และเขี้ยวที่ว่านั้นก็อาจมีความยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร

เฟรดเดริก วิเลียม เบอร์บริดจ์ ได้ตั้งสมมติฐานว่าเขี้ยวของหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้มีไว้ป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ ที่อาจพยายามขโมยเหยื่อที่อยู่ด้านในเหยือก ซึ่ง ชาร์ล คลาร์ค ได้ตั้งข้อสังเกตที่แตกต่างออกไปว่า จริง ๆ แล้วหนามดังกล่าวไม่สามารถป้องกันสัตว์จำพวกเช่น ลิง ได้ เพราะเหยือกของมันสามารถถูกทำลายได้ง่าย ๆ จนเขี้ยวด้านบนไม่มีผลใด ๆ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวมีอัตราการถูกทำลายโดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้อยกว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์อื่น ๆ

อีกสมมติฐานหนึ่งเสนอโดยคลาร์คคือ เขี้ยวดังกล่าวทำหน้าที่ล่อเหยื่อเข้ามา ซึ่งหากแมลงจะกินน้ำหวานจากบริเวณใต้ฝาของเหยือกก็มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะตกลงไปในหม้อของพืชชนิดนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ หม้อข้าวหม้อแกงลิง ชนิด Lingulata เพียงแต่ lingulata มีเขี้ยว 1 อันที่งอกออกมาจากบริเวณฝาแทนบริเวณขอบปากเหยือกหรือเพอริสโตม

หม้อข้าวหม้อแกงลิง
Nepenthes lingulata(ซ้าย), และ Nepenthes bicalcarata(ขวา)

ขอบปากเหยือก หรือเพอริสโตมของหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้มีลักษณะแบน และโค้งโน้มเข้าไปในเหยือก มีพื้นผิวคิดเป็น 70 % ลากเข้าไปในเหยือก แต่พื้นที่บริเวณขอบปากเหยือกมีลักษณะที่ไม่เหนียวหรือลื่นเกินไป จึงทำให้มดบางชนิดอาศัยอยู่ด้านในบริเวณเหยือกได้ ซึ่งจากผลการศึกษาในปี 2004 พบว่าขอบปากเหยือกหรือเพอริสโตมของหม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวจับเหยื่อได้ดีกว่าเดิมถึง 3 เท่าหากว่าเปียกน้ำ ซึ่งจะเพิ่มความลื่น ซึ่งโชคดีว่าพืชดังกล่าวเติบโตในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและชื้นจึงทำให้หม้อเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา

N.bicalcarata ความสำพันธ์กับสัตว์ในระบบนิเวศ

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับมด เช่น มดไม้ (Carpenter ant) คือ หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยให้กับมดชนิดนี้ และมดก็ทำหน้าที่ป้องกันภัยให้แก่พืชจากศัตรูพืช ป้องกันไม่ให้เหยื่อที่อยู่ในเหยือกหลบหนี พร้อมกับช่วยเพิ่มระดับไนโตรเจนที่เป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อหม้อข้าวหม้อแกงลิง และช่วยกำจัดเชื้อราอีกด้วย

ซึ่งมีการค้นพบว่ามดเป็นแหล่งไนโตรเจนให้กับหม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยวกว่า 42-76 % โดย หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยว มีของเหลวในเหยือกที่มีความเป็นกรดน้อยกว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงทั่วไปและไม่มีเอนไซม์ย่อยอาหาร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยมดในการช่วยย่อยอาหารขนาดใหญ่เพิ่มเติม และอาหารขนาดใหญ่ที่ย่อยสลายไม่หมดก็จะถูกกำจัดจึงถือว่ามดช่วยป้องกันไม่ให้เกินการเน่าเสียของซากสัตว์ต่างๆภายในเหยือกได้ 

Nepenthes bicalcarata

การเลี้ยง N.bicalcarata

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเขี้ยว N.bicalcarata จะเติบโตได้ดีในอุณภูมิประมาณ 80-90 องศาฟาเรนไฮ สำหรับตอนกลางวัน และไม่ต่ำกว่า 70 องศาฟาเรนไฮในตอนกลางคืน พืชชนิดนี้ชอบความชื้นในระดับ 75-100% ดีที่สุดคือประมาณ 90+% ปลูกในกระถางขนาดประมาณ 1 แกลลอน และหากต้นพืชขนาดเกิน 6 นิ้วขึ้นไปควรขยายกระถางไปขนาด 2-5 แกลลอน เนื่องจากพืชชนิดนี้มีปริมาณรากจำนวนมาก

โดยปกติตามธรรมชาติแล้วพืชชนิดนี้จะมีระบบรากที่ชอนไชลงไปไม่เกิน 25 เซนติเมตร เนื่องจากในระดับที่ลึกกว่านี้จะมีระดับเทนนินและอัลคาลอยด์เข้มข้นสูงจนเป็นพิษสำหรับพืช และวัสดุปลูกที่แนะนำคือสามารถใช้สแฟ็กนั่ม 100 % หรือผสม สแฟ็กนั่ม 60% วัสดุปลูกกล้วยไม้ 20 % และเพอร์ไลท์ 20% และสามารถใช้ถ่านปลูกหรือพีทมอส และสถานที่ปลูกนั้นควรมีระบบไหลเวียนอากาศที่ดี หรือปลอดโปร่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราที่ทำลายพืชนั่นเอง 

References

บทความพืชกินแมลงที่คุณอาจสนใจ

RECENT POSTS