10 สายพันธุ์เฟิร์นเลี้ยงง่าย ที่ควรมีไว้ประดับสวน

เฟิร์น
สารบัญบทความ
เฟิร์น

เฟิร์น คือพรรณไม้ประดับที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน และค่อนข้างแพร่หลายในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เพราะเป็นพรรณไม้ที่เข้ากับสวนสไตล์ต่าง ๆ ได้ดี ทั้งสวนแบบทรอปิคัล สวนแบบอังกฤษ สวนแบบโมเดิร์น หรือสวนแบบธรรมชาติที่เน้นความร่มรื่น ล้วนสามารถนำเฟิร์นมาเป็นองค์ประกอบเพิ่มความสวยงามน่ามองได้ทั้งนั้น

สาเหตุหนึ่งเพราะเฟิร์นเป็นพรรณไม้ที่ดูแลได้ง่าย มีฟอร์มใบที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ และมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากไม้ประดับอื่น ๆ ทั้งรากฝอยที่เกาะให้เห็นตามผิวดิน หรือซอกหิน ลักษณะลำต้นที่มีทั้งแบบสูงใหญ่ หรือเลื้อยทอดเกิดเป็นความสวยงามแปลกตา การสืบพันธุ์ของเฟิร์นจะใช้สปอร์เป็นหลัก จึงสามารถแพร่พันธุ์และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

แต่ยังไงเฟิร์นก็มีหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีวิธีการปลูกและดูแลที่แตกต่างกันไป บางชนิดอาจปลูกได้ง่าย แต่บางชนิดอาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ในบทความต่อไปนี้จะขอแนะนำเฟิร์นที่เลี้ยงง่าย และได้รับความนิยมในการปลูกตามสวนต่าง ๆ สำหรับมือใหม่ ดังนี้

เฟิร์นข้าหลวง
เฟิร์นข้าหลวง

1. เฟิร์นข้าหลวง

เฟิร์นข้าหลวง Asplenium spp. (cultivated & mutate) เป็นเฟิร์นที่มีความหลากหลายสูง ทำให้ได้รับความนิยมในประเทศไทยมานานแล้ว และมีพันธุ์ปลูกให้เลือกมากมาย ส่วนมากดูแลง่าย ค่อนข้างทนความร้อนและแสงแดดได้ดี โดยพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ เฟิร์นข้าหลวงหลังลาย (A. nidus var. nidus) เฟิร์นจีบ (A. nidus var. plicatum) และเฟิร์นพลาสติก (A. thunbergii)

เฟิร์นใบมะขาม
เฟิร์นใบมะขาม

2. เฟิร์นใบมะขาม

เฟิร์นใบมะขาม Nephrolepis spp. (cultivated & mutate) เป็นเฟิร์นที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากลำต้นมีความแข็งแรงทนทานทั้งต่อสภาพแสงที่มากและน้อย โตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยเฉพาะพันธุ์เฟิร์นงามหรือเฟิร์นบอสตัน (N. exaltata) ที่ได้รับความนิยมในการปลูกเป็นอย่างมาก

เฟิร์นสไบนาง
เฟิร์นสไบนาง

3. เฟิร์นสไบนาง

เฟิร์นสไบนาง Nephrolepis sp. เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งของเฟิร์นใบมะขาม มีจุดเด่นที่ก้านใบที่ยาวได้ถึง 3 เมตร ก้านใบมีลักษณะเรียวเล็ก แลดูอ่อนช้อยยามเมื่อต้องลม จึงได้รับความนิยมในการปลูกเป็นไม้ประดับในรูปแบบของไม้แขวนให้ใบห้อยตกลง หรือนำไปพันรอบต้นไม้ใหญ่ นับเป็นเฟริน์ที่เลี้ยงง่าย แต่ไม่ชอบแสงแดดจัดเกินไป เพราะใบจะสั้นลง และมีสีอมเหลืองได้

เฟิร์นแก๊ปปืน
เฟิร์นแก๊ปปืน

4. เฟิร์นแก๊ปปืน

เฟิร์นแก๊ปปืน Phymatosorus spp. เป็นชื่อการค้าที่ใช้เรียกเฟิร์นสกุล Phymatosorus โดยมีจุดเด่นที่กลุ่มอับสปอร์มีลักษณะคล้ายลูกแก๊ปปืน นิยมใช้เป็นไม้ประดับที่อยู่ใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นเพราะสีจะสวยสดกว่า แต่ก็สามารถปลูกกลางแจ้งได้แม้ว่าสีใบอาจซีดลงบ้างเล็กน้อย จึงเป็นไม้ประดับที่จะเลี้ยงภายใน หรือภายนอกอาคารก็ได้ โดยเฉพาะพันธุ์ที่ได้รับความนิยม คือ เฟิร์นฮาวาย (P. grossus) กระปรอกใบแฉก (P. longissimum) เป็นต้น

เฟิร์นนาคราช
เฟิร์นนาคราช

5. เฟิร์นนาคราช

เฟิร์นนาคราช Davallia spp. นิยมปลูกในลักษณะไม้กระถาง เพราะสามารถนำไปแขวน หรือประดับสวนได้สวยงาม แต่ต้องใช้วัสดุปลูกที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี เพราะเป็นเฟิร์นที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง และหากได้รับแสงรำไร ใบจะค่อนข้างดกหนา สามารถนำมาใช้เป็นไม้ตัดใบเพื่อปักแจกันได้ โดยพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมีทั้งเฟิร์นนาคราชใบหยาบ (D. solida) เฟิร์นนาคราชใบละเอียด (D. denticulata) เป็นต้น

เฟิร์นหางนางเงือก
เฟิร์นหางนางเงือก

6. เฟิร์นหางนางเงือก

เฟิร์นหางนางเงือก Microsorum punctatum (cultivated & mutate) เป็นเฟิร์นในสกุลกูดดอยที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตได้ดีในวัสดุปลูกที่โปร่งและระบายน้ำดีไม่ขังแฉะ แต่ต้องกักเก็บความชื้นไว้ได้นาน ชอบแสงแดดแบบรำไร มีหลากหลายสายพันธุ์ตั้งแต่ลำต้นขนาดปานกลางถึงใหญ่ นิยมปลูกเป็นไม้กระถางโดยเฉพาะสายพันธุ์กูดดอยบราซิล (B. brasiliense) กูดดอยใบมัน (B. gibbum) หรือเฟิร์นรัศมีโชติ (Blechnum ‘Rasmijoti’) เป็นต้น

เฟิร์นชายผ้าสีดา
เฟิร์นชายผ้าสีดา

7. เฟิร์นชายผ้าสีดา

เฟินชายผ้าสีดา Platycerium holttumiide (Jonch.& Hennipman) เป็นเฟิร์นที่ชอบอิงอาศัยกับต้นไม้ใหญ่ จุดเด่นอยู่ที่ใบที่มี 2 แบบ คือใบกาบทำหน้าที่ห่อหุ้มระบบรากเพื่อรักษาความชุ่มชื้น และยึดเกาะสิ่งต่าง ๆ ใบอีกแบบคือใบชายผ้าหรือใบเขากวาง เป็นใบที่ใช้ผลิตอับสปอร์เพื่อการขยายพันธุ์ แต่บางชนิดจะใช้แตกหน่อเพื่อการขยายพันธุ์ เป็นเฟิร์นที่ชอบแดดรำไร และชอบความชื้น นิยมปลูกในที่สูงเพื่อให้ใบห้อยระย้าแลดูสวยงาม

เฟิร์นผักชี
เฟิร์นผักชี

8. เฟิร์นผักชี

เฟิร์นผักชี Bolbitis heteroclita เป็นเฟิร์นชนิดที่มีเหง้าเล็ก ก้านใบจะเรียงตัวเป็นสองแถวอย่างเป็นระเบียบ บริเวณปลายก้านใบจะมีลักษณะแหลมเรียวยาว สามารถปลูกเป็นไม้ประดับทั้งภายนอกและภายในอาคารได้ดี และยังได้รับความนิยมมาใช้จัดเป็นสวนถาดหรือสวนขวดอีกด้วย

เฟิร์นราชินี
เฟิร์นราชินี

9. เฟิร์นราชินี

เฟิร์นราชินี Pteris ensiformis (cultivated) เป็นเฟิร์นที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี จึงสามารถปลูกใน หรือนอกอาคารได้ดี จุดเด่นของเฟิร์นชนิดนี้คือใบด่างที่สวยงาม โดยลักษณะความด่างจะแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ และเฟิร์นชนิดนี้ยังสามารถนำไปจัดสวนหิน หรือปลูกเป็นไม้กระถางเล็ก ๆ ได้อีกด้วย

เฟิร์นใบตำลึง
เฟิร์นใบตำลึง

10. เฟิร์นใบตำลึง

เฟิร์นใบตำลึง Doryopteris ludens มีแผ่นใบรูปกึ่งสามเหลี่ยม หยักตื้นแบบฝ่ามือ แตกเป็นพู 5 พูคล้ายใบตำลึง สวยงามและทนทาน เหมาะปลูกเป็นไม้กระถางหรือปลูกประดับสวน โดยใช้วัสดุปลูกที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี และควรได้รับแสงรำไร แต่อาจจะพักตัวในหน้าแล้ง

เฟิร์น วิธีดูแล

การดูแลเฟิร์นให้สวยงาม และเติบโตได้เต็มที่

  1. น้ำ เฟิร์นเกือบทุกสายพันธุ์ชอบความชื้นสูง น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงดู ควรใช้น้ำสะอาด มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6 – 6.5 สามารถใช้น้ำประปาได้ แต่ควรกักน้ำไว้สัก 1 คืน เพื่อให้อุณหภูมิน้ำลดลง ซึ่งจะช่วยให้เฟิร์นเจริญงอกงามได้ดี การรดน้ำแนะนำให้รดรอบโคนต้น อย่ารดน้ำที่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะต้นอาจได้รับน้ำไม่เพียงพอได้ ควรตรวจสอบว่าวัสดุปลูกชื้นอยู่เสมอ และควรรดน้ำในขณะที่มีแสงแดด เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำค้างอยู่บนใบและต้น
  2. ปุ๋ย ควรให้บ่อย ๆ แต่ทีละน้อย ๆ โดยใช้ทั้งปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ ในกรณีปุ๋ยอินทรีย์ ต้องระมัดระวังวัชพืชหรือเชื้อราที่ติดมาด้วย ก่อนใช้งานจึงควรตากแดดให้แห้ง หรืออบฆ่าเชื้อก่อน กรณีปุ๋ยคอกแนะนำให้หมักทิ้งไว้ก่อน เพื่อให้โซดาไฟที่อาจปนเปื้อนมาได้สลายตัวก่อนนำมาใช้งาน กรณีปุ๋ยน้ำชีวภาพควรเจือจางก่อนนำมาใช้ เพราะความเข้มข้นของปุ๋ยอาจทำให้ใบไหม้ได้ ส่วนปุ๋ยเคมีนิยมใช้ได้หลายแบบ และควรใช้ให้น้อยกว่าปริมาณที่ระบุไว้บนฉลากเล็กน้อย

เฟิร์นเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ละสายพันธุ์ล้วนมีจุดเด่นและความสวยงามที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพื่อให้มีความสวยงามน่ามองมากยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

RECENT POSTS