ต้นยางนา พันธุ์ไม้เศรษฐกิจสารพัดประโยชน์และสรรพคุณทางยา 

ต้นยางนา
สารบัญบทความ
ต้นยางนา

ยางนา หรือ ต้นยางนา นับเป็นพันธุ์ไม้มากคุณค่า มีทั้งคุณประโยชน์ทางยาและเป็นพันธุ์ไม้มากมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ ยางนานับเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน สามารถพบเห็นต้นยางนาได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) และภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตป่าดิบชื้น ป่าดงดิบ และป่าผลัดใบ

ปัจจุบันต้นยางนาในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก เพราะการสร้างถิ่นที่อยู่อาศัย ประกอบกับการขยายอาณาเขตแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตร จึงทำให้ต้นยางนาจำนวนถูกโค่นล้มลงเป็นจำนวน จนอาจส่งผลกระทบให้เกิดการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย 

ต้นยางนา ยางนาคืออะไร? ทำไมถึงมีคำว่า “ยาง” อยู่ในชื่อ

ต้นยางนา เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งพบได้มากในเขตร้อน ต้นยางนาเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้พระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เมื่อปี พ.ศ. 2504

สาเหตุที่มีชื่อเรียกว่า “ยางนา” นั่นเป็นเพราะสามารถใช้น้ำมันยางจากต้นยางนามาใช้ได้สารพัดประโยชน์ ทั้งเพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ใช้เป็นเชื้อเพลิง และใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับต้นยางนา

ต้นยางนา

ชื่อสมุนไพร: ยางนา ต้นยางนา

ชื่อท้องถิ่น: ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก (เหนือ) ยางกุง (เลย) ยางควาย (หนองคาย) ยางตัง (ชุมพร) ยางใต้ ยางเนิน (ภาคตะวันออก) กาตีล ขะยาง จะเตียล จ้อง ชันนา ทองหลัก ยาง เยียง ร่าลอย เห่ง

ชื่อวงศ์: Dipterocarpaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์: Dipterocarpus alatus Roxb.ex. G.Don

ถิ่นกำเนิดของต้นยางนา: ต้นยางนาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ กัมพูชา พม่า ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะของยางนา จะแบ่งตามแต่ละส่วน ดังนี้

ลักษณะของต้น

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด เรือนยอดมีลักษณะเป็นพุ่มกลมหนา มีความสูงได้มากถึง 40-50 เมตร ลำต้นเป็นเปลาตรง บริเวณเปลือกด้านนอกหนาเรียบเป็นสีเทาหรือเทาปนขาว และจะหลุดออกเป็นแผนชิ้นกลม ๆ

เนื้อไม้ด้านในหยาบ เสี้ยนตรง มีสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลเทา มียางเหนียวสีน้ำตาลไหม้ ส่วนโคนต้นมักเป็นพูพอนยกสูงขึ้นเล็กน้อย มีเส้นรอบวงขนาด 4-7 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง (ระดับอก) ขนาด 1.2-1.5 เมตร

สามารถพบต้นยางนากระจายขึ้นเป็นหมู่ ๆ อยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตป่าดิบชื้น บริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ห้วย ลำธาร หรือตามหุบเขา รวมถึงป่าดิบและป่าอื่น ๆ ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 50-400 เมตร

ใบ

ใบของต้นยางนาเป็นแบบใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ รูปใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบสอบทู่ ขอบใบมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อของใบค่อนข้างหนาและเหนียว ใบที่ยังอ่อนจะมีขนสีเทาคลุมอยู่ประปราย ส่วนใบแก่สีเขียวเข้มเป็นใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ขนาดใบกว้างประมาณ 6-14 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร 

ดอก

ออกดอกรวมเป็นช่อสั้น ๆ (ช่อกระจะ) ที่บริเวณกิ่ง ง่ามใบปลายกิ่งและตรงซอกใบ แต่ละช่อมีดอกยางนาราว ๆ 3-8 ดอก สีดอกยางนาออกขาวอมชมพู และชมพูอ่อน แต่ละดอกมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร โคนกลีบชิดกัน กลีบดอกมี 5 แฉก แบ่งเป็นแฉกสั้น 3 แฉก และแฉกยาว 2 แฉก

ปลายกลีบมนและบิดเวียนคล้ายกังหัน มีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ทั่วดอก ในดอกมีเกสรเพศผู้มากกว่า 29 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์เป็นรูปเส้นด้าย รังไข่มี 3 ช่อง ไข่อ่อนช่องละ 2 อัน ก้านเกสรเพศเมียอ้วนและมีร่อง โดยดอกยางนาจะเริ่มออกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 

ลูกยางนา

ต้นยางนา ผล

ลูกยางนาหรือผลยางนา เป็นผลแบบแห้งรูปทรงกระสวย ตัวผลด้านล่างสุดเป็นผลกลมหรือรูปทรงไข่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.8 เซนติเมตร มีปีกขนาดใหญ่ 2 ปีก (กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 11-15 เซนติเมตร) วางตัวเฉียงกันเล็กน้อย และปีกสั้นตามยาว 3 ปีก (ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร) ตรงส่วนกลางของผลมีครีบตามยาวทั้งหมด 5 ครีบ ภายในของผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยส่วนเมล็ดจะมีขนสั้นและนุ่ม เริ่มติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 

น้ำมันต้นยางนา

เป็นน้ำมันยางที่ได้จากการเจาะโพรงเข้าไปในต้นยางนา และใช้ไฟลนเพื่อให้น้ำยางไหลออกมา น้ำยางนาจะมีลักษณะเป็นของเหลวสีข้น มีกลิ่นเฉพาะตัว น้ำมันยางที่ไหลออกมารวมกันบริเวณโพรงที่เจาะไว้มีชื่อเรียกว่า “Gurjun Balsam” หรือ “Gurjun oil” มีสรรพคุณทางยา และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย 

  • ใช้น้ำมันยางนาผสมกับชันไม้อื่น ๆ ใช้ยาเครื่องจักสาน หรือยาชันเรือ เพื่ออุดรอยรั่ว
  • ใช้ทำน้ำมันชักเงาหรือใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมทำร่ม ใช้ผสมในสีทาบ้าน และหมึกพิมพ์ เป็นต้น
  • ใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีงานวิจัยเพื่อนำน้ำมันยางนามาใช้ในเครื่องยนต์อย่างเช่นรถไถ เรียกว่าน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel) ช่วยประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงให้กับเกษตรกร
  • ใช้น้ำมันยางนาเพื่อการรักษาโรค เช่น น้ำมันยางนาสกัดเย็นช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำมันยางดิบใช้เป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทหารหนักให้ฝ่อตัวและมีขนาดเล็กลง และใช้น้ำมันยางนาเพื่อสมานแผล ห้ามหนอง ช่วยป้องกันไม่ให้บาดแผลเน่าเปื่อย

อัตราการเติบโตของต้นยางนา

ต้นยางนามีอัตราการเจริญเติบโตช้า เป็นไม้ที่มีอายุประมาณ 14 ปี มีขนาดเส้นรอบวงเฉลี่ยถึง 82.84 ซม. มีปริมาตร 3.83 ลบ.ม./ไร่ (7 ตัน / ไร่) สามารถยืนต้นได้นานถึงหลักร้อยไปจนถึงหลักพันปี โดยในประเทศไทยพบต้นยางนาอายุ 1,000 ปี ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมีขนาดเส้นรอบวง 15 เมตร ลำต้นสูง 50 เมตร และถือเป็นต้นยางที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย ถูกจัดให้เป็น 1 ในต้นไม้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการรุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมีโดยกระทรวงวัฒนธรรม

ยางนา ประโยชน์

การขยายพันธุ์ต้นยางนา

หากเป็นการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ผลของต้นยางนาที่แก่จัดจะร่วงลงสู่พื้นดินในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยมีอัตราส่วนของเมล็ดดีที่สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นยางนาได้ที่ประมาณ 30% หากเป็นการขยายพันธุ์โดยทั่วไปจะนิยมใช้การเพาะพันธุ์ต้นกล้าจากเมล็ดของยางนา แล้วจึงย้ายลงปลูกในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้สามารถขยายพันธุ์ต้นยางนาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การตัดชำ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง 

สรรพคุณของยางนา

  • น้ำต้มจากเปลือกยางนา มีสรรพคุณในการฟอกเลือด บำรุงโลหิต แกัตับอักเสบ และใช้นวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามข้อ
  • เมล็ดและใบของต้นยางนา ที่มีฤทธิ์ฝาดร้อน นำมาต้มใส่เกลือและใช้อมเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ฟันโยกคลอน
  • น้ำมันยางนา น้ำมันยางนาดิบมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อเล็กลง นอกจากนี้น้ำมันยางนายังช่วยในการสมานแผล ห้ามหนอง ใช้สำหรับทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง หรือใช้น้ำมันยางผสมกับเมล็ดกุยช่ายแล้วนำมาคั่วจนเกรียม ใช้เป็นยาอุดฟันเพื่อช่วยแก้ปัญหาฟันผุ 
  • ใบยางนามีฤทธิ์ช่วยขับเลือด (ทำให้เป็นหมัน)
  • เวชสำอางจากสารสกัดเปลือกยางนา ปัจจุบันมีการวิจัยและค้นคว้าเกี่ยวกับต้นยางนาจำนวนหลายงานวิจัย จนได้มีการค้นพบสารสำคัญที่อยู่ในเปลือกยางนา คือ สารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่ออกฤทธิ์ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ (antioxidants) ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ภายในร่างกายโดยเฉพาะเซลล์ผิวหนัง ช่วยป้องกันปัญหาริ้วรอยร่องลึก นอกจากนี้สารสกัดจากเปลือกยางนายังช่วยยับยั้งการทำงานของเม็ดสีเมลานินซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาผิวคล้ำเสีย ฝ้า กระและจุุดด่างดำ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใหม่ ๆ ในชั้นผิว ช่วยบำรุงผิวให้กระจ่างใสและสุขภาพดีมากยิ่งขึ้น สามารถนำสารสกัดจากเปลือกของต้นยางนาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้อย่างหลากหลาย ทั้งครีมบำรุงผิวหรือผลิตภัณฑ์กันแดด
ต้นยางนา

ความสำคัญทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากไม้ยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นเปลาตรง ทรงสูง แตกกิ่งก้านน้อย ตัวเนื้อไม้มีระดับความแข็งแบบปานกลาง สามารถเลื่อยตกแต่งทรงได้ง่าย หลังจากชุบน้ำยาจะมีอายุการใช้งานได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยไม่มีปัญหาปลวกหรือเชื้อรามารบกวน สามารถใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ใช้ทำพื้นบ้าน ฝาบ้าน ฝ้าเพดานหรือโครงหลังคา เฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้ในเครื่องเรือน

นอกจากนี้ยังนิยมนำไม้ยางนามาทำเป็นเรือขุด เรือขนาดย่อม ตลอดจนถึง แจว พาย และกรรเชียง ทำให้ไม้ยางนาได้รับความนิยมและมีมูลค่าทางธเศรษฐกิจสูงมาก โดยต้นไม้ยางนาที่มีอายุระหว่าง 15-20 ปี อาจมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 20,000-30,000 บาท/ต้น หรือหากนำเอาไม้ยางนามาแปรรูป และผ่านการชักเงาให้ขึ้นสีสวยงามก็ช่วยเพิ่มมูลค่าได้ถึงหลักแสนบาท 

บทความอื่นๆ

RECENT POSTS