ต้นพะยูง ราชาแห่งไม้เนื้อแข็ง

ต้นพะยูง
สารบัญบทความ
ต้นพะยูง

คนไทยกับความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลนั้นมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณกาล เราจะสังเกตเห็นได้ว่าแต่ละครอบครัวจะมีการปลูกไม้มงคลไว้บริเวณบ้าน เพราะเชื่อว่าพลังงานด้านบวกจะต้นไม้ดลบันดาลให้คนในครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ ซึ่งต้นพะยูง ก็เป็นหนึ่งในต้นไม้มงคลที่คนไทยนิยมปลูกเกือบทุกภาคทั่วไทย

เพราะนอกจากจะเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาบริเวณบ้านแล้ว ยังเป็นไม้มงคลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในตลาด จึงทำให้ไม้พะยูงได้รับความนิยมอย่างมาก จนถึงขนาดที่มีการลักลอบตัดไม้พะยูงออกไปในลักษณะของการหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้นวันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับต้นพะยูง ในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น มาติดตามไปพร้อม ๆ กันเลย

ต้นพะยูงคืออะไร? ทำไมถึงได้รับความนิยมสูงในท้องตลาด

หากพูดถึงไม้มงคลที่มีมูลค่ามากที่สุด หลายคนคงจะนึกถึงต้นพะยูง (ชื่อพื้นถิ่น: กระยุง,ขะยุง,แดงจีน,ประดู่น้ำ,ประดู่ตม,พะยูงไหม, ประดู่ลาย) ชื่อสามัญ Siamese rosewood ชื่อวิทยาศาสตร์ DALBERGIA COCHINCHINENSIS PIERRE เป็นต้นไม้วงศ์ LEGUMINOSAE ที่มักจะพบเห็นมากที่สุดในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ในปี พ.ศ. 2565 ไม้พะยูงได้ถูกประเมินสถานะให้เป็นต้นไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีการลักลอบตัดไม้และนำออกไปนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย จึงมีนักอนุรักษ์หลายคนคาดการณ์ว่าต้นไม้ชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ภายใน 10 ปี (ภายในปี 2569)

ต้นพะยูง

มาถึงตรงนี้หลายคนคงกำลังสงสัยใช่ไหมว่า ต้นพยุงคืออะไร? ทำไมถึงมีได้รับความนิยมมากมายขนาดนี้ วันนี้เรามีคำตอบ

ต้นพะยูง เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจน ซึ่งนั้นหมายความว่า ต้นพะยูง มีศักยภาพในการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่ที่ถูกทำลาย จึงสามารถตอบโจทย์ทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ไม้พะยูงยังมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ มีเนื้อละเอียด มีน้ำมันและเรซินสูง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ไม้พะยูงมีความทนทานต่อการเน่าเปื่อยและป้องกันปลวกและแมลงได้ดี อีกทั้งยังมีกลิ่มที่หอม จึงเหมาะที่จะนำมาสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง โดยส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้พะยูงมักจะได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศจีน จนทำให้เกิดการตัดไม้และลักลอบค้าไม้อย่างผิดกฎหมาย บางรายงานระบุว่าราคาไม้พะยูงในตลาดมืดพุ่งสูงขึ้น จนมีค่ามากกว่าทองคำเลยทีเดียว

ซึ่งในประเทศเทศไทยส่วนใหญ่เรามักจะพบเห็นต้นพะยูง บริเวณพื้นที่ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกระจายอยู่ในทุกภาค ทั่วไทย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีการเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านและจีนเข้มงวดกับการปราบปรามลักลอบตัดไม้ในเขตภูพานและเทือกเขาแดงกรีในฝั่งกัมพูชา แต่ในปัจจุบันได้มีการออกใบอนุญาตตัดไม้ในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ทำให้ ยากต่อการตรวจสอบว่าไม้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอื่นหรือในประเทศไทย และไม้อาจถูกส่งจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ถูกกฎหมาย ดังนั้นเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของไม้พะยูง เราจึงมักจะเห็นทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการปลูกและเก็บเกี่ยวไม้พะยูงเป็นอย่างมาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นพะยูง ถือได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมี ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์เป็นต้นไม้สูงเขียวชอุ่ม เมื่อเติบโตเต็มที่จะมี ความสูงประมาณ 15-30 เมตร เป็นต้นไม้ที่มักขึ้นในป่าเขตร้อนชื้นหรือแห้ง (เช่น ป่ากึ่งผลัดใบหรือป่ามรสุม) บนดินเหนียวปนทรายและดินเนื้อปูน

โดยปกติจะเติบโตร่วมกันหลาย ๆ ต้นบนพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 400 – 500 ม. ในบริเวณที่มีฝนตกประจำปีตั้งแต่ 1,200 – 1,650 มม. ซึ่ง ต้นพะยูงสามารถมีอายุได้มากกว่า 200 ปี โดยเราสามารถสังเกตลักษณะของต้นพะยูง ได้ดังนี้

ต้นพะยูง ลักษณะ

ลำต้น

ต้นพะยูง มีลักษณะของ ลำต้น ที่มีตั้งแต่ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับต้นประดู่ โดยมีระดับความสูงได้ถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา แตกเป็นปล้อง ๆ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน แก่นมีกลิ่นหอมและมีรสขมฝาดเล็กน้อย

ต้นพะยูง ใบ

ใบ

ต้นพะยูง มีใบเป็นลักษณะใบประกอบที่ออกเป็นช่อแบบขนนกปลายคี่ที่ติดเรียงสลับกันประมาณ 7-9 ใบ ยาวประมาณ 10-15 ซม. ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 ซม. ปลายสุดของช่อเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะคล้ายรูปไข่หรือรูปวงรี บริเวณปลายใบแหลมยื่นออกเล็กน้อย โคนใบมนกว้าง แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ

ต้นพะยูง ดอก
Credit by : apps.phar.ubu.ac.th

ดอก

โดยทั่วไป ต้นพะยูง จะออกดอกเป็นช่อแยกแขนง ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้กับปลายยอดจะมีขนาดยาวประมาณ 10-20 ซม. ดอกขนาดเล็ก มีกลีบ 5 กลีบ มีลักษณะเป็นสีขาวนวล และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มม. ฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ คล้ายกับรูประฆัง ขอบดอกหยักเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก มีขนสั้น และมีกลีบดอกคลุมคล้ายรูปโล่ กลีบปีกสองกลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวหรือรูปเรือ โดยทั่วไป ต้นพะยูง จะออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม และเมล็ดจะโตเต็มที่ในเดือนกันยายนหรือเดือนพฤศจิกายน

ต้นพะยูง เมล็ด
เมล็ดพะยูง

ผล

หลายคนคงจะยังไม่รู้ว่า ต้นพะยูง ออกผลเป็นฝัก โดยลักษณะของฝักจะมีขนาดแบนและบาง กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 4-6 ซม. ผิวฝักเกลี้ยง ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด เมื่อผ่านไปประมาณ 2 เดือนหลังการออกดอก ฝักจะเริ่มแก่จึงกลายเป็นสีน้ำตาล และจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก ซึ่งเมล็ดจะมีลักษณะคล้ายรูปไต สีน้ำตาลเข้ม มีประมาณ 1-4 เมล็ดต่อฝัก ผิวมัน มีขนาดกว้างประมาณ 4 มม. และยาวประมาณ 7 มม.

วิธีเลี้ยงต้นพะยูง

สำหรับใครที่สนใจอยากจะปลูกต้นพะยูง เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่ามี วิธีเลี้ยงอย่างไร? ใช้เวลาโตเร็วไหม?

ต้นพะยูง

ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า ต้นพะยูงเป็นต้นไม้ที่ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานมาก อย่างน้อยต้องใช้เวลาถึง 40 กว่าปี กว่าที่จะโตเป็นไม้พะยูงขนาดใหญ่พอใช้ประโยชน์ได้ โดยทั่วไปไม้พะยูงจะไม่นิยมนำมาใช้ในการจัดสวน เพราะใช้เวลาในการเติบโตช้านานมาก

ซึ่งในการเพาะปลูกนั้นการเลือกระยะเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยช่วงเพาะปลูกที่ดีที่สุดจะเป็นช่วงต้นหรือกลางฤดูฝน (ระหว่างพฤษภาคม-สิงหาคม) เพราะจะทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดตายที่สูงและมีระยะเวลา นานพอสำหรับการตั้งต้น ทางที่ดีควรปลูกด้วยเหง้า ก่อนจะย้ายปลูกลงในแปลงประมาณ 2 อาทิตย์ และควรลดปริมาณการให้น้ำลงเรื่อย ๆ เพื่อให้ต้นกล้าได้มีการปรับตัว และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งหลังจากฝนทิ้งช่วง และควรใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม (ประมาณต้นละ 1 ช้อนชา)

เมื่อครบเวลาก็ให้เตรียมหลุมสำหรับการปลูกต้นกล้า โดยขุดให้ลึกพอที่จะคลุมระบบรากได้หมด และใส่ปุ๋ยที่ก้นหลุม จากนั้นก็นำต้นกล้าลงไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ได้เลย

ส่วนระยะเวลาสำหรับการบำรุงรักษาแปลงปลูกไม้พะยูงนั้นยังกำหนดแน่นอนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับงบประมาณ การเจริญเติบโตของต้นไม้ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ปลูก สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ แต่เบื้องต้นต้องมีการบำรุงรักษาติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี และควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง

การขยายพันธุ์ของต้นพะยูง

ต้นพะยูง กล้าไม้

ถึงแม้ว่าว่าต้นพะยูง จะเป็นต้นไม้ที่ทนแดด ทนฝน แต่ขั้นตอนการขยายพันธุ์นั้นค่อนข้างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการเพาะเมล็ด เราขอแนะนำเลยว่าอย่าแบ่งชั้นเมล็ด (เช่น แช่เมล็ดในน้ำและบ่มที่อุณหภูมิต่ำ) ให้แช่เมล็ดเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแล้วบ่มที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส เพื่อให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น หรือที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8 ชั่วโมง และ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 16 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อเพิ่มอัตราการงอกของต้นกล้าให้เร็วขึ้น

หลังจากนั้นก็นำเมล็ด ไปเพาะในกระบะทรายที่เตรียมไว้ โดยกลบเมล็ดด้วยทรายบาง ๆ และรดน้ำสม่ำเสมอ แต่อย่าให้แฉะเกินไป เมื่อครบ 7 วัน กล้าอ่อนก็จะเริ่มงอก และใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน จะมีความสูงราว 1 นิ้ว และมีใบเลี้ยง 1 คู่ สามารถย้ายไปชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ได้ แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกขนาด 4 X 6 นิ้ว เจาะรูปประมาณ 8-12 รู นอกจากนี้ ต้นพะยูงยังสามารถขยายพันธ์ุได้ด้วยการตอนกิ่ง และการปักชำกิ่งอีกด้วย

ประโยชน์ของต้นพะยูง

ต้นพะยูง ถือได้ว่าเป็นไม้มงคลที่มีประโยชน์หลายด้านทั้งเป็นไม้ที่มีความทนทานสูง มีศักยภาพในการช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่ที่ถูกทำลาย และสารประกอบของส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ยังมี สรรพคุณในการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็น ราก ใช้แก้พิษเซื่องซึม, เปลือก นำไปต้มเอาน้ำมาอมแก้ปากเปื่อย แก้ปากแตกระแหง, ยางสด ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย นอกจากนี้แก่นไม้มีลวดลายที่สวยงามและแข็งแรงเหมาะสำหรับใช้ทำเครื่องเรือน ไม้แกะสลัก เครื่องดนตรี หรือใช้สร้างบ้านและอุปกรณ์การเกษตรก็ได้

ไม้พะยูง ราคา

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นพะยูง

สำหรับคนไทยความเชื่อเกี่ยวกับ ต้นพะยูง นั้นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งคนไทยสมัยก่อนมีความเชื่อ ว่าไม้พะยูงเป็นไม้มงคลที่มีความหมายดี โดยคำว่ามงคล มีความหมายว่า “การพยุงฐานะให้ดีขึ้น” ในทางกลับกันคนไทยเชื่อว่าหากไม้พะยูงต้นไหนล้มลงมาเองตามธรรมชาติจะไม่นำมาใช้สร้างบ้านหรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพราะอาจจะทำให้ชีวิตไม่เจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าปลูกไว้บริเวณบ้านจะช่วยเสริมดวงให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยมีแต่ความสุขความเจริญ จึงไม่แปลกที่เรามักจะพบเห็น ต้นพะยูง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

ราคาของไม้พะยูง ในท้องตลาด

ไม้พะยูง

ต้นพะยูง เรียกได้ว่าเป็นไม้ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมไม้แกะสลักและเฟอร์นิเจอร์ จึงทำให้เป็นที่นิยมในท้องตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีน ลักษณะเนื้อไม้ มีความแข็งแรง ทนทาน และป้องกันแมลงได้ดี จึงนิยมนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพราะหาตลาดได้ง่าย และ ราคาเนื้อไม้ค่อนข้างสูง

ซึ่งส่วนใหญ่ ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ ลูกบาศก์เมตรละ 300,000-500,000 บาท

ปัญหาภัยคุกคามต่อต้นพะยูง

เพราะด้วยความที่เป็นไม้มงคล และมีลวดลายไม้ที่สวยงาม แถมยังแข็งแรง ใช้งานได้นาน จึงทำให้ไม้พะยูงเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง นำไปสู่การลักลอบตัดไม้และส่งออกไปนอกประเทศจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยความนิยมในการนำไม้พะยูงมาใช้ประโยชน์ทั้งในทางตรงและทางอ้อมยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม้มีเนื้อแข็งมาก ยากต่อการแปรรูป ประกอบกับในไทยมีต้นไม้ที่เหมาะสำหรับการแปรรูปหลากหลายชนิด เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่า และไม้แดง แต่ก็มีบ้างที่คนสมัยใหม่นำแก่นไม้พะยูงมาตกแต่งสวนหย่อมในบริเวณบ้าน และสวนน้ำ

นอกจากนี้ ต้นพะยูงยังเป็นต้นไม้ที่ใช้เวลาเจริญเติบโตค่อนข้างนานกว่าจะใช้ประโยชน์ได้ สิ่งนี้ถือเป็นข้อเสีย ที่ทำให้ไม้พะยูงใกล้สูญพันธุ์ คนไทยจึงนิยมไม้สักมากกว่า เพราะเมื่อเทียบกับแล้วไม้สักจะโตเร็วกว่าและมีราคาที่ถูกกว่ามาก

RECENT POSTS