กระเป๋าจิงโจ้ พืชกินแมลงสวยน่าขนลุก ของมันต้องมีของนักสะสมไม้แปลก

กระเป๋าจิงโจ้
สารบัญบทความ
กระเป๋าจิงโจ้

ต้นกระเป๋าจิงโจ้ (Cephalotus follicularis) จัดเป็นพืชกินแมลง พบได้ในประเทศออสเตรเลีย ในพื้นที่ระหว่าง Augusta ถึง Cape Riche ขนาดพื้นที่ประมาณ 250×50 ไมล์ ดังนั้นอีกชื่อหนึ่งที่พืชชนิดนี้เป็นที่รู้จักก็คือ พิชเชอร์ออสเตรเลีย (Australian pitcher plant) หรือต้นเหยือกออสเตรเลีย และ ต้นเหยือกออลบานี (Albany pitcher plant)

กระเป๋าจิงโจ้เป็นพืช กลุ่ม monotypic genus หรืออธิบายได้ง่าย ๆ คือเป็นพืชที่มีเพียงชนิดเดียวในวงศ์ (เป็นสปีชีส์เดียวในสกุล Cephalotus) ลักษณะของพืชมีขนาดเล็ก ไม่ขึ้นสูง ขึ้นแผ่ราบกองตามแนวหน้าดิน และมีขนเล็กอยู่ตามต้น โดยลักษณะของกับดักมีความคล้ายคลึงกับพืชตระกูล หม้อข้าวหม้อแกงลิง

ต้นกระเป๋าจิงโจ้
Archibald Menzies

การค้นพบต้นกระเป๋าจิงโจ้

มีการค้นพบกระเป๋าจิงโจ้ครั้งแรกในปี 1792 โดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศส ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย ผู้ค้นพบคนแรกคือ Archibald Menzies ภายใต้การนำทีมโดย Bruni d’ Entrecasteaux และได้รับการอธิบายอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดย นักพฤกษศาสตร์ Robert Brown ในปี 1802 ซึ่ง Jacques Labillardière เป็นผู้ตั้งชื่อ Cephalotus follicularis

โดย Cephalotus มีรากศัพท์จากภาษากรีก คำว่า “kephalotos” หมายถึง หัว ซึ่งอธิบายถึงลักษณะของ ก้านชู (filaments) ของเกสรตัวผู้ และ คำว่า Folliculus ที่หมายถึง ถุงเล็ก ๆ ซึ่งอธิบายถึงลักษณะรูปลักษณ์ของต้นกระเป๋าจิงโจ้นั่นเอง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

เช่นเดียวกับพืชเหยือกอื่น ๆ ที่มักชอบความชื้นแต่ระบายน้ำได้ดี ต้นกระเป๋าจิงโจ้เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและไม่อุ้มน้ำมากเกินไป ต้นกระเป๋าจิงโจ้เติบโตในภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นโดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 77°F (25°C) และบางครั้งมีอากาศร้อนได้ถึง 100°F (40°C) ฤดูหนาวจะเย็นไม่มากนักและมีความชื้นสูง โดยอุณหภูมิของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติแทบจะไม่ลดต่ำกว่า 40°F (5°C) เลย และมีน้ำค้างแข็งเป็นครั้งคราวเท่านั้น นอกจากนี้พืชชนิดนี้มักขึ้นอยู่ใต้ร่มของพุ่มไม้หรือหญ้าที่มีความชื้นและมีแสงแดดรำไร และสามารถพบได้ใกล้ชายฝั่งทะเลที่มีความชื้นสูง มีมอสขึ้นจำนวนมากและมีน้ำจืดไหลผ่าน

กระเป๋าจิงโจ้-สัณฐานวิทยา

สิ่งที่พิเศษมาก ๆ สำหรับพืชชนิดนี้คือใบของต้นกระเป๋าจิงโจ้นั้นมีอยู่ 2 แบบ ต่างจากพืชกินสัตว์อื่น ๆที่จะมีใบเพียงแบบเดียว

พืชกินแมลง

1.ใบแบบสังเคราะห์แสง

ใบที่มีไว้สำหรับสังเคราะห์แสง มีลักษณะเป็นใบไม้แบน ๆ ทรงปลายหอก คือโคนกลมและปลายแหลม มีขนเล็ก ๆ ปกคลุมใบ และสีเขียวสด โดยจะงอกออกมาในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิและเติบโตได้ดีในช่วงที่มีเวลากลางวันยาวนานขึ้น เชื่อว่าหน้าที่ของใบชนิดนี้คือการสังเคราะห์แสงเพื่อให้ต้นไม้มีพัฒนาการของเหยือกมากขึ้นและเติบโตได้เร็วขึ้น โดยใบประเภทนี้จะอยู่เพียงประมาณ 1 ปี ก่อนจะเหี่ยวไปและแตกใบใหม่ในฤดูใบไม้ผลิถัดมา

2.ใบเหยือก

ใบเหยือกซึ่งทำหน้าที่ดักจับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เพื่อเป็นอาหาร ซึ่งจะพัฒนาขึ้นมาช้ากว่าใบชนิดแรก แต่บางครั้งจะพบใบที่งอกออกมาเเบบกึ่ง ๆ ใบธรรมดาและใบเหยือกด้วย ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างมากเพราะนี่แสดงถึงกระบวนการวิวัฒนาการที่น่าสนใจของพืชซึ่งจะช่วยให้อธิบายกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้นในอนาคต

ต้นกระเป๋าจิงโจ้

กลไกเหยือกดักแมลงของต้นกระเป๋าจิงโจ้

เหยือกของต้นกระเป๋าจิงโจ้จะเริ่มงอกและขึ้นเป็นรูปเป็นร่างระหว่างช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูร้อน เริ่มแรกจะมีลักษณะเหมือนมีก้านยาวและมีปุ่มเล็ก ๆ ตรงปลายและค่อย ๆ ขยายกลายเป็นกับดักทรงเหยือก มีขนาดใหญ่สุดได้ประมาณ 2 นิ้วหรือ 5 ซม. แต่ส่วนมากแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว ลักษณะสั้นอวบ ก้นแคบ ลำตัวอ้วน ปากกว้าง ตัวเหยือกจะติดอยู่กับพื้น มีปีกขึ้นเป็นสัน 3 เส้นเพื่อนำทางแมลงขึ้นไปถึงปากเหยือก และปากเหยือกหันหน้าออกจากแกนกลางของลำต้น

เหยือกจะบรรจุน้ำย่อยเอาไว้ภายใน มีฝาปิดแขวนอยู่ด้านบนปากเหยือกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าไปและป้องกันน้ำย่อยภายในระเหยจนแห้งไป นอกจากนี้ฝาเหยือกดังกล่าวยังมีสีสันที่สดใส มีแถบสีขาวและปกคลุมด้วยขนเล็ก ๆ สามารถช่วยล่อแมลงเข้ามาใกล้ได้อีกด้วย ส่วนขอบปากเหยือก (peristome) นั้นมีสันคล้ายซี่โครง หรือฟันประมาณ 24 ซี่อยู่รอบ ๆ

ขอบปากเหยือกโค้งพาดเข้าไปในเหยือก ตรงปลายซี่ฟันเหล่านั้นมีลักษณะแหลมและลื่น ฟันเหล่านั้นโค้งโน้มลงไปภายในเหยือกทำให้แมลงลื่นตกลงไปได้ง่าย ใต้ขอบปากเหยือกมีแถบหนา (Collar) งอกยื่นลงไปภายในเหยือก ส่วนเล็ก ๆ ส่วนนี้จะมีต่อมน้ำหวานที่ส่งกลิ่นล่อแมลง

เมื่อแมลงยื่นหน้าลงไปแล้วขาที่เกาะอยู่ตรงขอบปากเหยือกลื่น ๆ ก็จะลื่นตกลงไป ซึ่งจะไม่สามารถไต่ออกมาได้เนื่องจากภายในนั้นมีลักษณะเรียบลื่นและมีแถบหนา ๆ (collar) กั้นระหว่างผนังเหยือกกับปากเหยือกอยู่ อีกทั้งมีปลายฟันซี่เล็ก ๆ กั้นขอบปากเอาไว้ด้วย ด้านในเหยือกมีต่อมคล้ายโดมอยู่หลายต่อมซึ่งทำหน้าที่ผลิตของเหลวในเหยือก ผนังด้านในเหยือกมีบริเวณที่มีสีม่วงเข้มและดำ รูปร่างคล้ายไตและเต็มไปด้วยต่อมเล็ก ๆซึ่งทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์สำหรับย่อยเหยื่อภายใน สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเหยือก

กระเป๋าจิงโจ้ ดอก
ดอก,เมล็ดและต้นอ่อนกระเป๋าจิงโจ้

กระเป๋าจิงโจ้ การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ของต้นกระเป๋าจิงโจ้มีหลายแบบ รากของกระเป๋าจิงโจ้ในช่วงแรกจะเปราะบางมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไประบบรากก็จะขยายตัวหนาขึ้นและแตกรากแยกกลายเป็นเหง้าและแตกตัวไปเป็นต้นลูกข้าง ๆ กันได้

ในช่วงกลางถึงปลายฤดูร้อนต้นกระเป๋าจิงโจ้ที่โตเต็มที่จะออกดอกที่มีก้านยาวได้ถึง 24 นิ้วหรือประมาณ 60 ซม. แต่ตัวดอกนั้นมีขนาดเล็กประมาณ ¼ นิ้วและไม่มีกลีบดอกไว้ดึงดูดแมลง ดังนั้นแม้จะต้องอาศัยการผสมพันธุ์ด้วยเกสรอยู่ แต่ดอกของมันสามารถขยายพันธุ์ติดเมล็ดเองได้เนื่องจากเป็นดอกสมบูรณ์เพศ

โดยดอกหนึ่งจะผลิตเมล็ดได้ประมาณ 6-10 เมล็ด จากรังไข่ในดอกโดยรังไข่ 1 อันจะผลิตเมล็ดได้ 1 เมล็ด กลีบเลี้ยงมีสีเขียวซีดหรือสีขาว เมล็ดขนาดเล็กมีสีเหลืองและมีขนเล็ก ๆ ปกคลุมอยู่ การปลูกนั้นควรลงดินทันทีหลังเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ และควรปลูกในอากาศที่อบอุ่นเนื่องจากมีอายุสั้นมาก

สิ่งที่ต้องรู้หากจะปลูกกระเป๋าจิงโจ้

กระเป๋าจิงโจ้

อุณหภูมิ

การเพาะปลูกกระเป๋าจิงโจ้แม้จะไม่ง่ายนักแต่ก็สามารถทำได้ภายใต้การดูแลอย่างเหมาะสม โดยต้นกระเป๋าจิงโจ้จะเติบโตได้ดีในระดับอุณหภูมิ 5-32 องศาเซลเซียส ทนความเย็นได้ต่ำสุดในระดับ 2 องศาเซลเซียสและสูงสุด 40 องศาเซลเซียส ชอบอากาศที่เย็นกว่าในตอนกลางคืน หากต้องอยู่ในอุณหภูมิสูงเกินกว่า 21 องศาเซลเซียสต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไปก็จะทำให้พืชอ่อนแอได้

การให้น้ำ

ควรรดน้ำด้วยน้ำบริสุทธิ์ที่มีแร่ธาตุไม่มากกว่า 50 ppm ดินจะต้องชื้นแต่ไม่เปียกชุ่ม ไม่ควรให้รากแช่น้ำ ผู้เพาะปลูกควรให้น้ำจากด้านล่างเพื่อลดโอกาสรากเน่า ดังนั้นอาจจะใช้กระถางที่มีทรงสูงเพื่อให้เวลารดน้ำจะไม่โดนรากโดยตรง

ปริมาณแสง

กระเป๋าจิงโจ้อยู่ได้ในแสงสว่างหลายระดับตั้งแต่มีร่มรำไรจนถึงรับแสงแดดเต็มที่ ยิ่งได้รับแสงแดดมากเท่าไหร่เหยือกก็จะมีสีแดงมากขึ้นและแข็งแรงมากขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าเหยือกจะขนาดเล็กกว่าหากได้รับแสงแดดเต็มที่ หากต้องการให้เหยือกมีสีเขียวและขนาดใหญ่กว่าควรปลูกในร่มที่มีแสงแดดรำไร อย่างไรก็ตามผู้เพาะปลูกหลายคนแนะนำว่าควรให้ได้รับแสงแดดโดยตรงอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้ได้ต้นไม้ที่แข็งแรง สำหรับการปลูกในโรงเรือนโดยใช้แสงเทียมนั้นก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะออกดอกได้น้อย ยกเว้นสามารถจำลองการเปลี่ยนฤดูภายในโรงเรือนได้

วัสดุปลูก

การเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกนั้นสามารถทำได้โดยใช้วัสดุหลายแบบ แต่โดยหลักการคือจะต้องเป็นดินที่มีความเป็นกรด ไม่ปรุงแต่งเพิ่มสารอาหาร และระบายน้ำได้ดี โดยผสมวัสดุระบายน้ำได้ดีกับวัสดุปลูกกลุ่ม สแฟ็กนั่มและพีทมอส ที่นิยมคือ พีท ทรายซิลิก้า เพอร์ไลท์ อย่างละ 1 ส่วน และ พีท 1 ส่วน ทรายซิลิก้าหรือเพอร์ไลท์ 2 ส่วน นอกจากนี้อาจใช้เพอร์ไลท์หรือทรายซิลิก้า 3 ส่วนและพีทมอส 2 ส่วนได้

โดยจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการปลูกและขนาดกระถาง ผู้เพาะปลูกจึงควรพิจารณาว่ามีการระบายน้ำและกักเก็บความชื้นได้ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นรากอาจเน่าได้ และเช่นเดียวกับพืชกินสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้อาหารมากนักแต่กระเป๋าจิงโจ้จะเติบโตได้เร็วขึ้นหากมีการให้แมลงสดเป็นอาหารแก่ต้นไม้บ้างเป็นครั้งคราว ส่วนปุ๋ยนั้นสามารถให้ได้แต่จะต้องให้อย่างระมัดระวังไม่ให้ปุ๋ยโดนรากโดยตรง สิ่งที่สำคัญคือผู้เพาะปลูกควรระมัดระวังเรื่องเชื้อราและจะต้องกำจัดใบที่ติดเชื้อราทันทีที่พบและให้การรักษาโรคเชื้อราในทันที

จากผู้เขียน-สำหรับผู้ที่อยากจะเลี้ยงต้นกระเป๋าจิงโจ้

จากประสบการณ์ของผู้เขียน พืชนิดนี้เติบโตช้า ถือว่าเลี้ยงไม่ยากหากแต่ต้องใส่ใจ ไม่เลี้ยงแบบปล่อยปะละเลย และต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ ส่วนราคาค่อนข้างแพง จะอยู่ที่ต้นละ 300-500 บาท(ขนาดเล็ก) ไปจนถึงหลักพัน ขึ้นกับขนาดต้น

แหล่งอ้างอิง

RECENT POSTS