พืชกินแมลง เพชฌฆาตตัวฉกาจแห่งแดนไม้ดอกและพงไพร

พืชกินแมลง
สารบัญบทความ
พืชกินแมลง

ณ สวนและป่าซึ่งอุดมด้วยพันธุ์พฤกษานานาชนิด

เรามักเห็นแมกไม้หลากชนิดจนชินตาจนคิดว่าพืชทุกชนิดบนโลกนั้นคือ Giver ผู้ให้ชีวิตแก่สรรพสัตว์ แต่ความจริงแล้วโลกใบนี้นั้นกว้างใหญ่และหลายหลากกว่าที่คิด จะเกิดอะไรขึ้นหากพืชเริ่มกลายเป็นนักล่าในห่วงโซ่เสียเอง ฟังดูน่าประหวั่นใจเมื่อนึกถึงพืชกินคนที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่หากมอง ‘พืชกินแมลง’ ผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการก็จะเข้าใจในสุดว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

บางทีภาพจำสุดแสนน่ากลัวของพืชกินแมลงอาจนั้นแปรเปลี่ยนไปก็ได้หลังอ่านจบ

Carnivorous plant นามนี้ได้แต่ใดมา

กาลครั้งหนึ่ง ณ เกาะกาลาปากอส ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาผู้เลื่องลือชื่อได้ออกสำรวจสิ่งมีชีวิตและพันธุ์พฤกษาน้อยใหญ่ด้วยสายตาที่ใคร่รู้ และต้องรู้อัศจรรย์ใจเมื่อพบว่า พืชเองก็สามารถกินสัตว์ได้เหมือนกัน

กระทั่งหลังจากนั้นไม่นานหลังจากตีพิมพ์หนังสือที่สร้างเสียงกู้ก้องไปทั่วโลกอย่าง On the origin of Species เขาก็เริ่มกล่าวถึงสารพัดความวิเศษของพืชกินแมลงพร้อมบรรจงวาดภาพเหมือนให้คงไว้ซึ่งความงามจากภาพเห็นไว้ในบันทึก Darwin’s Most Wonderful Plants หลังการค้นพบในปี ค.ศ. 1875

และด้วยลักษณะจำเพาะของพืชชนิดนี้ที่กินได้ทั้งแมลง หนู กบ และอื่น ๆ จึงเหล่านักชีววิทยาจึงใช้คำว่า Carnivorous plant หรือ ‘พืชกินสัตว์’ มาเรียกใช้คำแทน เพราะให้ความหมายได้ครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากแมลง

สมมติฐานที่น่าจะเป็น: ทำไมพืชกินสัตว์

นักชีววิทยาต่างฉงนฉงายถึงเหตุผลของการเกิดขึ้นของพืชกินแมลงมากว่าช้านาน อย่างไรก็ตาม มีบางสมมติฐานที่ไขข้อกระจ่างแก่เราหลายประการด้วยกัน 

  • สมมติฐานที่ 1 : เป็นไปได้ว่าการที่พืชกินแมลงไม่สามารถดูดสารอาหารในดิน อันเนื่องมาจากระบบดูดซึมของรากในพืชทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พืชต้องปรับตัวให้อยู่ดำรงอยู่ด้วยการจับแมลงและสัตว์อื่นเป็นอาหารทดแทน
  • สมมติฐานที่ 2 : หากปัจจัยไม่ได้อยู่แค่สภาพดิน ทว่าผนวกรวมกับความชื้นและสายน้ำที่พัดพาแร่ธาตุให้หลุดล่องลอยไป เหล่านั้นเองที่พืชขาดแคลนแหล่งอาหารจำเป็น

อย่างไรก็ตาม พืชกินแมลงนั้นมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลก ซึ่งอาจจะเข้าข่ายสองสมมติฐานข้างต้น หรือเหนือความคาดหมายไปก็ได้ ทั้งนี้ผู้เขียนได้ยกรวมเหล่าพืชกินแมลงที่มีลักษณะโดดเด่นมาอธิบายให้เห็นภาพชัดและเปิดโลกแห่งพืชจากการรับรู้ของผู้คนให้ถ่างกว้างขึ้น

หม้อข้าวหม้อแกงลิง nepenthes ventricosa
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes ventricosa)

1. Nepenthes

ต้นทรงหลอดยาวพร้อมฝาเปิดปากอ้านามว่า Nepenthes หรือที่เราต่างคุ้นหูในชื่อ ‘หม้อข้าวหม้อแกงลิง’ (Monkey cups) จัดเป็นพืชกินแมลงไม้เลื้อยใบเลี้ยงคู่ ซึ่งพบได้ทั่วไปตามป่าเขตร้อนแถบเอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ มีเพอริสโตม (Peristome) หรือส่วนปากที่ไหลลื่นให้เหยื่อตามกลิ่นจนเสียหลักตกลงไปและไม่อาจโผล่พ้นจากปล่องไปได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศชื้นและแดดรอนในยามเช้าหรือก่อนพลบค่ำ

หม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ได้ดีที่รูปลักษณ์สีสันแปลกตาและกลิ่นหอมยวนใจให้เหยื่อติดกับเพียงเท่านั้น แต่น้ำหวานภายในหลอดกลับอุดมด้วยเอมไซน์สำคัญสำหรับใช้ย่อยสลายเหยื่อและยังเป็นยาแผนโบราณทางแถบเนินเขาของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลังแก้อ่อนเพลียและบรรเทาสารพัดโรค เช่น เบาหวาน หอบหืด เป็นต้น

นอกจากนี้งานวิจัยจาก Journal of Fundamental and Applied Sciences ยังแสดงให้เห็นว่าสารสกัดที่ได้จากใบและปล่องหม้อข้าวหมอแกงลิงพันธุ์ Nepenthes gracilis สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิด Bacillus subtilis และ Escherichia coli ซึ่งเป็นเหตุก่อเกิดอาการท้องร่วงได้อีกด้วย

กาบหอยแครง venus flytrap
venus flytrap

2. Venus Flytrap

ถัดมาเป็นกับดักชีวภาพสีใบตองอ่อนที่มีรูปลักษณ์เป็นบานพับอย่าง ‘กาบหอยแครง’ หรือ Venus Flytrap อีกสมญานามวิทยาศาสตร์ที่นิยมใช้เรียกขานเป็นสากลโลก เหตุที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะความสวยงามดั่งกาบหอย ซึ่งเป็นพาหนะของ ‘วีนัส’ เทพีแห่งความงามดังปรากฏบนภาพวาด The birth of Venus ร่วมกับความหมายอันดำมืดที่สื่อถึงความกำหนัดจากรูปโฉม จึงทำให้กาบหอยแครงเป็นพืชกินแมลงแห่งหนองน้ำที่น่าสะพรึง ผิดกับสีสันน่าชวนมอง

หากมดแมลงตัวใดได้ย่างกรายเข้าฝากาบและสัมผัสกับขนบาง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนปลายประสาทจนเกิดการกระตุกถึง 2 ครั้งแล้วล่ะก็ เป็นอันรู้ว่าจบเกมเมื่อกาบทั้งสองปิดเข้าหากัน ก่อนบีบรัดและย่อยสลายเหยื่อด้วยเอนไซน์หลากชนิดในสามวัน

และแน่นอนว่ากาบหอยแครงก็มีสรรพคุณที่พิเศษไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน เนื่องจากสารประกอบที่สกัดได้จาก Venus Flytrap (Dionaea muscipula Solander ex Ellis) มีส่วนยับยั้งการเกิดและพัฒนาของโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การนำมารักษาก็มีข้อจำกัดที่ไม่อาจต้านทานกับมะเร็งได้ครอบคลุมทุกชนิด จึงต้องรอคำตอบกันต่อไป

หยาดน้ำค้าง drosera spatulata
หยาดน้ำค้าง(Drosera spatulata)

3. Sundew หรือ Drosera

สดใสดั่งหยดน้ำค้างกลางหาว คงไม่เกินไปหากจะเปรียบความใสกระจ่างของน้ำหวานที่ค้างเติ่งอยู่ปลายกิ่งเจ้าต้นหยาดน้ำค้าง ที่ยามต้องกระทบแสงอาทิตย์อัสดงจะส่องประกายแวววาวชวนสัตว์น้อยใหญ่ให้หลงใหลในความงาม สร้างแรงดึงดูดให้เข้าหา ก่อนม้วนปลายหนวดโอบรัดเหยื่อจนสิ้นใจ พร้อมแสงสุดท้ายที่ลาลับไป ให้ดับมืด.. ในห้วงอนธการ

Sundew นามนี้หมายถึงน้ำตาของพระอาทิตย์ซึ่งมีมากถึง 194 ชนิด เป็นไม้ล้มลุกที่ใช้หยดหยาดน้ำคอยล่อเหยื่อและจับกินเพื่อทดแทนอาหารที่ขาดไป ซึ่งพบได้ทั่วไปแทบทุกทวีป และพร้อมเจริญเติบโตในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ชื้นแฉะตามหนองน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำขังและเนินเขาที่มีสภาพดินเป็นกรดและแดดมาก

แม้ว่าหยาดน้ำค้างจะคร่าชีวิตน้อยใหญ่ไปร้อยพัน ทว่าอีกด้านก็เป็นสมุนไพรสำหรับเยียวยาอาการไอและโรคทางเดินหายใจอื่นอย่างโรคหลอดลมอักเสบ โรคไอกรน โรคหืด และวัณโรคมาเนิ่นนานตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 12 ทางแถบยุโรป กระทั่งค้นพบทวีปอเมริกา จึงนิยมใช้ในแถบนั้นเป็นเวลาถัดมา อย่างไรก็ตาม หยาดน้ำค้างจัดเป็นพืชที่น่าเป็นห่วงว่าจะสูญพันธุ์จากภัยคุกคามมนุษย์ ร่วมกับจุดอ่อนที่ขนาดเล็กและเติบโตช้า จึงมีแนวว่าอีกหลายสายพันธุ์จะสูญสลายอย่างไม่หวนคืน

พิงกุย pinguicula florian
พิงกุย(Pinguicula florian) สายพันธุ์ที่มีใบสีชมพู

4. Butterwort หรือ Pinguicula

กุหลาบสวยย่อมมีหนาม โฉมงามย่อมมีพิษ

มีหรือ… ที่ ‘พิงกุย’ (Pinguicula) พืชล้มลุกไม้อวบนางหนึ่งจะพลาดพลั้ง ด้วยกลีบใบเขียวขดคล้ายกุหลาบหินผา ร่วมกับช่อดอกที่ตั้งตระหง่านเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลาง จึงต้องตาเหล่าแมลงให้มาแทะแกะกินและทำรัง โดยไม่ทันรู้ตัวว่าบนน้ำเมือกที่แทบทาบนกลีบใบคือกับดักชั้นดีไว้ใช้สวาปามอยากยุงเป็นอาหาร ดั่งมัจจุราชเคลือบเนยสดคงไม่ผิดนัก สมชื่อกับ Butterwort ที่เขาล่ำลือ

กระนั้นพิงกุยก็มีประโยชน์หลายอย่าง ช่วยไม่ให้ยุงชุกชมเต็มบ้าน และไม้ประดับใครเห็นก็รู้สึกเพลินตา ชอบความชุ่มชื่นและแสงพอประมาณในบริเวณที่น้ำไม่ท่วมขัง ขยายพันธุ์ได้ดีด้วยการปักชำ อีกทั้งความพิเศษที่พิงกุยสามารถผลิตสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Bactericide) ฤทธิ์แรงสำหรับคงสภาพเหยื่อไม่ให้เน่าเปื่อย ก็ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาศึกษาจนใช้เป็นสมุนไพรสมานบาดแผลและแก้ไอระคายคอในปัจจุบัน

sarracenia flava
ซาราซีเนีย (Sarracenia flava)

5. Sarracenia

ซาราซีเนีย’ (Sarracenia) คือชื่อที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นหู แต่มีกิตติศัพท์เป็นราชินีแห่งแมกไม้กินแมลง มีรูปใบเป็นหลอดยาวเป็นปากแตรไว้คอยดักจับเหยื่อ (ซึ่งหากดูผิวเผินก็เหมือนผู้หญิงเย่อหยิ่งที่ยืนเชิดคอตั้งเสียจริง) ซาราซีเนียชอบอาบแดดอวดโชว์สีสันอยู่กลางแจ้ง ซึ่งจะบรรจุในกระถางรองน้ำหรือไม่ ก็อยู่ได้ตามสะดวก พบได้ตามแถบทวีปอเมริกาเหนือ และนิยมใช้ประกอบยาแก้ปวด โดยสายพันธุ์ที่พบในธรรมชาติมี 9 ชนิด

ลิลลี่งูเห่า Darlingtonia californica
ลิลลี่งูเห่า (Darlingtonia californica)

6. Cobra Lily หรือ Darlingtonia

คราวนี้เป็นไม้ป่าทรงอสรพิษอย่าง ‘ลิลลี่งูเห่า’ (Cobra Lily) หรือฉายา ‘พืชดักสัตว์แห่งแคลิฟอร์เนีย’ กันเสียที เห็นชื่อลิลลี่แสนสวยสีขาวแทนความบริสุทธิ์เช่นนี้ ที่จริงแล้วเธอคือพืชกินแมลงที่เลี้ยงยากที่สุดในโลก ด้วยรูปทรงปากใบที่โค้งงอเป็นโดม จึงมีรูเล็กพอที่แมลงน้อยใหญ่มุดผ่าน และในไม่นานมันก็ใช้กลิ่นหอมหวลพร้อมน้ำหวานเป็นหลุมพรางลวงตาย คล้ายย้ำเตือนผู้มาเยือนว่าอย่าล้วงคองูเห่า!

เฉกเช่นกับพืชกินแมลงพันธุ์อื่นที่มักเติบโตในดินที่ขาดความสมบูรณ์ ลิลลี่งูเห่าจะเติบโตได้ดีตามห้วยน้ำใสไหลเย็นและแดดที่ไม่จัดนัก ลิลลี่งูเห่าในธรรมชาติพบเพียงชนิดเดียวคือ Darlingtonia californica

*เกร็ดเพิ่มเติม

เหนือสิ่งอื่นใดที่ทั้ง Nepenthes, Sarracenia, Cobra Lily ซึ่งเป็นพืชกินแมลงประเภท Pitfall plant มีเหมือนกันคือความเชื่อเรื่องสิ่งมงคล โดยชาวจีนต่างเชื่อว่าลักษณะทางกายภาพที่เป็นปากหลอดนั้นคล้ายกับกระเป๋าที่พร้อมรับความมั่งคั่งและผาสุกมาสู่บ้านและครอบครัว

พืชกินแมลง Triantha
Triantha แหล่งอ้างอิงภาพ : https://www.snexplores.org/article/wildflower-carnivorous-plant-secret-meat-eater  

7. Triantha

ดอกไม้ป่าพันธุ์ล่าสุดที่ค้นพบภายหลังว่าเป็นพืชกินแมลงในช่วงปีที่ผ่านมาไตรแอนธา (Triantha Occidentalis) ไม้ดอกไร้ใบแห่งอเมริกาเหนือที่ใช้ขนเหนียวหนืดสีแดงบริเวณลำก้านและช่อดอกคอยดักจับเหยื่อเล็กจิ๋วพร้อมย่อยสลายให้หายไปกับตา

แม้ว่าไตรแอนธาจะซุกซ่อนความร้ายกาจจากการรับรู้ของมวลมนุษย์มากว่าช้านาน ทว่าจากการวิจัยครั้งล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ก็ยังพบว่าไตรแอนธายังขาดยีนเฉพาะบางส่วนที่มักหายไปในพืชกินสัตว์พันธุ์อื่น เป็นไปได้ว่าไม้ดอกชนิดนี้อาจวิวัฒนาการตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้ตามข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม ซึ่งโดยทั่วไปจะเจริญเติบโตตามบึงโคลนที่ขาดแคลนสารอาหารบนภูเขาอันหนาวเย็น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

  • แทนไท ประเสริฐกุล. (2565). มดอบหม้อดิน กับความฟินที่ดาร์วินไม่ได้สัมผัส., จาก readthecloud.co/nepenthes/
  • François Gaascht, Mario Dicato, and Marc Diederich. (2013). Venus Flytrap(Dionaea muscipula Solander ex Ellis) Contains Powerful Compounds that Prevent and Cure Cancer., derived from www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3747514/
  • N. N. Rodzali and M. M. Mydin. (2017). Antibacterial Activity of Leaves and Pitcher Extract of Nepenthes Gracilis against Bacillus Subtilis and Escherichia Coli., derived from www.ajol.info

RECENT POSTS