3 สายพันธุ์สับปะรดสีหายาก แต่เลี้ยงได้ง่าย นิยมในหมู่นักสะสมไม้แปลก

สับปะรดสีหายาก
สารบัญบทความ
สับปะรดสีหายาก

ในบทความก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงรายละเอียดเบื้องต้นของสับปะรดสี หรือบรอมีเลียด (BROMELIAD) กันมาแล้ว ด้วยลักษณะรูปร่างของต้นสับปะรดสีที่ดูสวยงามแปลกตา มีฟอร์มต้นและลวดลายโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มาพร้อมกับสีสันที่สดใสเหมาะกับการใช้แต่งเติมเพิ่มความสวยงามให้กับสวนหลังบ้านหรือสวนหย่อมขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกเลยที่ต้นสับปะรดสีจะกลายมาเป็นพันธุ์ไม้ประดับที่ได้รับความนิยมชมชอบในกลุ่มนักปลูกเลี้ยงต้นไม้ทั่วไป รวมไปจนถึงกลุ่มนักสะสมพันธุ์ไม้หายาก ในบทความนี้จึงขอรวบรวมเอาสับปะรดสี 3 สายพันธุ์สุดโดดเด่นและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ปลูกมาฝากกัน 

สับปะรดสีสายพันธุ์ที่น่าสะสมและได้รับความนิยมในปัจจุบัน

หากเราลองสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นสับปะรดสีจะพบว่าสับปะรดสี ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Bromeceae มีอยู่ด้วยกันถึง 57 สกุล และนับรวมกันแล้วมีต้นสับปะรดสีรวมกว่า 3,000 ชนิด นอกไปจากนี้ยังมีต้นสับปะรดสีที่ถูกพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีความสวยงามและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นอีกหลายชนิด ซึ่งแต่ละต้นต่างมีลักษณะของฟอร์มต้น ใบ และดอกที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในตลาดพันธุ์ไม้ของประเทศไทย มีต้นสับปะรดสีที่ได้รับความนิยมอยู่ด้วยกันประมาณ 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. สับปะรดสีแอคเมีย (Aechmea)
  2. สับปะรดสีนีโอเรจีเลีย (Neoregelia) 
  3. สับปะรดสีไซยาเนีย (Cyanea) สายพันธุ์ทิลแลนเซีย (Tillandsia)

1.สับปะรดสีกลุ่มแอคเมีย (Aechmea)

สับปะรดสีแอคเมีย (Aechmea) เป็นสับปะรดสีประเภทมีดอก มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลางและใต้ สายพันธุ์ในกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มหายาก มีจำนวนชนิดมากกว่า 255 ชนิดทั่วโลก แต่ละชนิดก็มีจะมีลักษณะฟอร์มต้น ใบ และดอกที่แตกต่างกันออกไป

สับปะรดสีแอคเมีย
Aechmea fosteriana

ลักษณะทั่วไปของสับปะรดสีแอคเมีย

  • เป็นต้นไม้อิงอาศัย (Epiphytic) โครงสร้างหรือฟอร์มต้นมีขนาดใหญ่ ทรงพุ่มใบเรียงตัวซ้อนกันเป็นชั้นๆ คล้ายกลีบกุหลาบ ใบใหญ่และแข็ง โดยรอบๆ ใบ หรือขอบใบจะมีหนามแหลมคล้ายฟันเลื่อยยื่นออกมา บางชนิดอาจมีลวดลายบนใบซึ่งลวดลายที่โดดเด่นและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงสับปะรดสีแอคเมีย ได้แก่ สับปะรดสี เอคเมีย ชานทินีอาย Aechmea chantinii ที่บริเวณใบจะมีเส้นยาวสีเหลืองพาดตามยาว ตัดด้วยแถบสีขาวแกมเงินในแนวนอนตลอดใบ
  • ดอก สับปะรดสีแอคเมียแต่ละชนิดมีลักษณะของดอกที่ต่างกัน เช่น ดอกทรงช่อแบบช่อเชิงลด ดอกทรงพุ่ม ดอกทรงช่อกระจุกแน่น เป็นต้น
  • ชนิดของสับปะรดสีแอคเมีย เช่น Aechmea Fasciata, Aechmea Chantinii, Aechmea Fosteriana, Aechmea Aculeatosepala
สับปะรดสีแอคเมีย
Aechmea Chantinii

การดูแลและปลูกเลี้ยงสับปะรดสีแอคเมีย

  • วัสดุปลูก ใช้วัสดุปลูกที่อุ้มน้ำได้ดี แต่มีคุณลักษณะโปร่ง ระบายน้ำและอากาศได้ดี ไม่เปียกแฉะ เช่น กาบมะพร้าวสับ ถ่าน อิฐทุบ พีทมอส ฯลฯ
  • แสงแดด สับปะรดสีแอคเมียเป็นสายพันธุ์ที่สามารถปลูกเลี้ยงได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงแดดแบบรำไร (หรือใช้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์) ทั้งนี้ควรระมัดระวังไม่ให้ต้นได้รับแสงมากเกินไปเพราะจะทำให้ใบไหม้แดดได้ 
  • น้ำ เนื่องจากสับปะรดสีแอคเมียมีใบออกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ คล้ายกับกลีบดอกกุหลาบ (Rosette) ทำให้มีช่องว่างคล้ายกับแทงก์น้ำ (Tank) อยู่ตรงกลางลำต้น ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในการเจริญเติบโตของต้นได้ จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย โดยควรหมั่นสังเกตน้ำที่อยู่บริเวณกลางต้น ไม่ควรปล่อยให้น้ำแห้งจนหมด สามารถใช้น้ำกลั่นหรือน้ำฝนเติมที่บริเวณแทงก์กลางต้นให้มีปริมาณ ¼ หรือ ½ อยู่เสมอ สำหรับสับปะรดสีแอคเมียที่ปลูกในที่ร่มหรือภายในอาคาร ควรทำความสะอาดแทงก์กลางต้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันการเกิดโรค 
  • ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยเหมือนกับการเลี้ยงต้นสับปะรดสีสายพันธุ์อื่น ๆ ใช้ปุ๋ยละลายน้ำได้เจือจางความเข้มข้น ¼ ถึง ⅛ โดยไม่ควรให้ปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินไป เพราะจะทำให้สีของใบผิดเพี้ยน ฟอร์มต้นไม่สวย 

การขยายพันธุ์: สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ด แยกหน่อ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 

2.สับปะรดสีกลุ่มนีโอเรจีเลีย (Neoregelia) 

สับปะรดสีนีโอเรจีเลียเป็นสับปะรดสีประเภทมีดอก ถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลางและใต้ โดยพบได้มากในประเทศบราซิล ชิลีและประเทศเปรู มีมากกว่า 165 ชนิดทั่วโลก และมีลูกผสมที่เกิดจากการพัฒนาอีกว่า 1,000 ชนิด สับปะรดสีสายพันธุ์นีโอเรจีเลียนับเป็นสายพันธุ์สับปะรดสีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีสีสันโดดเด่นมากที่สุด ใบมีลวดลายและสีสันที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด 

สับปะรดสี
Neoregelia wurdackii(ซ้าย), NEOREGELIA pineliana(ขวา)

ลักษณะทั่วไปของสับปะรดสีนีโอเรจีเลีย

  • เป็นต้นไม้อิงอาศัยที่มีอายุหลายปี (Epiphytic) ลักษณะของลำต้นสั้น เป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงเวียนสลับ ใบสีเขียวเข้ม รูปแถบยาว ปลายใบมนและบริเวณปลายติ่งใบแหลม ขอบใบมีหนาม กว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร ยาว 20-50 เซนติเมตร มีสีสันและลวดลายแตกต่างกันออกไป บางชนิดเป็นลายจุด ลายเส้นแถบ ลายหินอ่อน ฯลฯ ในระยะออกดอกใบบริเวณกลางลำต้นจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพูเข้มหรือม่วง
  • ดอก สับปะรดสีนีโอเรจีเลียออกช่อเป็นช่อกระจุกจากกึ่งกลางของลำต้น ดอกย่อยโผล่ขึ้นเหนือกาบรองช่อดอก สีของดอกแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด
  • ชนิดของสับปะรดสีนีโอเรจีเลีย เช่น Neoregelia abendrothae, Neoregelia altocaririensis, Neoregelia dactyloflammans, Neoregelia dayvidiana 
สับปะรดสีหายาก
NEOREGELIA MACWILLIAMSII

การดูแลและปลูกเลี้ยงสับปะรดสีนีโอเรจีเลีย

  • วัสดุปลูก ควรเลือกใช้เป็นวัสดุปลูกที่มีความโปร่ง มีคุณสมบัติในการกักเก็บความชื้นได้ดีระดับหนึ่งแต่ไม่เปียกชื้นมากจนเกินไป วัสดุปลูกที่นิยมใช้ ได้แก่ กาบมะพร้าวสับ อิฐทุบ ถ่าน พีทมอส ฯลฯ
  • แสงแดด สับปะรดสีนีโอเรจีเลียเป็นสายพันธุ์ที่ต้องการแสงแดดในระดับปานกลาง และชอบระดับความชื้นในอากาศสูง หากต้นได้รับแสงมากเกินไปจะส่งผลให้ใบซีด ไม่สวยงามและเกิดอาการใบไหม้แดดได้ สามารถวางต้นไว้ในอาคารหรือโรงเรือนที่มีแสงแดดรำไร หรือหากวางไว้กลางแจ้งควรใช้สแลนกรองแสงประมาณ 50-60% เพื่อช่วยลดทอนปริมาณแสงให้น้อยลง 
  • น้ำ สับปะรดสีนีโอเรจีเลียเป็นอีกสายพันธุ์ที่มีช่องว่างกลางต้นที่มีลักษณะคล้ายแทงก์น้ำ การให้น้ำจึงสามารถทำได้ด้วยการเติมน้ำในแทงก์กลางต้นให้อยู่ที่ประมาณ ¼ ของแทงก์เสมอ ไม่ควรปล่อยให้น้ำแห้ง (ยกเว้นในช่วงหน้าฝน)น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำกลั่นหรือน้ำฝน หลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปาหรือน้ำก๊อก และที่สำคัญไม่ควรรดน้ำลงบนรากโดยตรง เพราะอาจทำให้รากเน่าได้
  • ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยเหมือนกับการเลี้ยงต้นสับปะรดสีสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยการให้ปุ๋ยละลายน้ำได้ โดยควรระมัดระวังไม่ให้ปุ๋ยมากเกินไปเพราะอาจทำให้สีของใบผิดเพี้ยน ไม่สวยงาม 

การขยายพันธุ์: สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ด แยกหน่อ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 

3.สับปะรดสีไซยาเนีย (Tillandsia cyanea, Tillandsia lindenii)

สับปะรดสีไซยาเนีย (Pink quill, Fan flower, Blue flowered torch) เป็นสับปะรดสีที่จัดอยู่ในสายพันธุ์ทิลแลนเซีย (Tillandsia) มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปอเมริกาใต้ โดยสับปะรดสีไซยาเนียนับเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มนักปลูกเลี้ยงไม้แปลกและไม้หายาก ด้วยลักษณะของใบเล็ก เรียวแหลมที่เรียงตัวซ้อนกันเป็นชั้นๆ คล้ายกลีบกุหลาบ บริเวณใบปกคลุมด้วยเกล็ดสีขาวขนาดเล็กเหมือนถูกขี้ผึ้งเคลือบใบเอาไว้เรียกว่า ไทรโคม (Trichome) และช่อดอกที่มีรูปทรงแปลกตา สีสันสดใสสวยงาม 

สับปะรดสีไซยาเนีย
Tillandsia cyanea

ลักษณะทั่วไปของสับปะรดสีไซยาเนีย

  • เป็นต้นไม้อิงอาศัยที่มีอายุหลายปี (Epiphytic) ไม่มีลำต้น โดยใบจะเรียงตัวซ้อนกันเป็นชั้น ๆ คล้ายกลีบกุหลาบ (Rosette) ความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร กว้าง 18-30 เซนติเมตร
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว มีลักษณะเรียวแหลมคล้ายหญ้า มีความยาวได้มากกว่า 35 เซนติเมตร ช่วงใบส่วนบนมีสีเขียวและช่วงโคนใบมีสีน้ำตาลอมแดง
  • ดอก ช่อดอกแบบช่อกระจะแทงโผล่ขึ้นมาจากต้น ก้านช่อดอก (scape) มีลักษณะอวบใหญ่ ใบประดับสีชมพูอมม่วงทรงเรียวเหมือนใบมีดเรียงซ้อนกันคล้ายขนนก ช่อดอกยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนดอกของสับปะรดสีไซยาเนียจะแทงออกมาจากบริเวณขอบใบประดับ ครั้งละ 1-2 ดอก มีกลีบสีชมพูอมม่วงหรือสีน้ำเงินเข้ม จำนวน 3 กลีบ โดยจะเริ่มติดดอกในช่วงฤดูหนาว 
สับปะรดสี สายพันธุ์
Tillandsia lindenii

การดูแลและปลูกเลี้ยงสับปะรดสีไซยาเนีย

  • วัสดุปลูก ใช้เป็นวัสดุปลูกที่มีความโปร่ง มีคุณสมบัติในการกักเก็บความชื้นได้ดีระดับหนึ่งแต่ไม่เปียกชื้นมากเกินไป วัสดุปลูกที่นิยมใช้ ได้แก่ กาบมะพร้าวสับ อิฐทุบ ถ่าน พีทมอส (peat moss)
  • แสงแดด สับปะรดสีไซยาเนียเป็นสายพันธุ์ที่ต้องการแสงแดดในระดับปานกลาง โดยสามารถวางต้นให้รับแดดโดยตรงในช่วงเช้าและนำเข้าที่ร่มในช่วงเวลาที่แดดแรงตอนบ่าย ระมัดระวังไม่ให้ต้นรับแสงแดดมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้แดด และหากต้นได้รับแสงแดดน้อยเกินไปก็จะทำให้ติดดอกช้าหรือไม่ติดดอกเลย หากปลูกต้นสับปะรดสีไซยาเนียไว้ในอาคาร สามารถวางต้นไว้ที่ริมหน้าต่างที่มีแสงแดดส่องสว่างอย่างเพียงพอ 
  • น้ำ เนื่องจากต้นสับปะรดสีไซยาเนียจัดอยู่ในกลุ่มต้นไม้รากอากาศ (Air Plants) จึงมีความต้องการน้ำเพียงเล็กน้อย โดยอาจใช้หัวฉีดสเปรย์ฉีดพ่นน้ำ (น้ำกลั่นหรือน้ำฝน) ให้ทั่วประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์หรือฉีดซ้ำได้อีกครั้งเมื่อสังเกตว่าผิวของวัสดุปลูกเริ่มแห้ง ในช่วงที่อากาศร้อนสามารถรดน้ำได้บ่อยขึ้น และเมื่ออากาศชื้นหรือมีฝนตกสามารถเว้นช่วงการให้น้ำ โดยอาจรดน้ำทุก 2 สัปดาห์หรือนานมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับระดับความชื้นในอากาศ หากต้นสับปะรดสีไซยาเนียได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้รากเน่าและลำต้นตายไปในที่สุด
  • ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยเหมือนกับการเลี้ยงต้นสับปะรดสีสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วยการให้ปุ๋ยละลายน้ำได้ ปีละ 1-2 ครั้ง

การขยายพันธุ์: สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ด แยกหน่อ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

บทสรุป 

และนี่ก็เป็น 3 สายพันธุ์หายากของต้นสับปะรดสี ที่จะเห็นได้ว่าในแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะฟอร์มต้น ใบ และดอกไม้ที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ทั้งในด้านของรูปทรง ลวดลายและสีสัน ซึ่งราคามีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว

จุดสำคัญของการเลือกปลูกเลี้ยงต้นสับปะรดสีนอกไปจากการเลือกสายพันธุ์ที่โดดเด่นตรงใจแล้วนั้น ยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและรักษาต้นสับปะรดสีทั้งเรื่องแสง น้ำ อากาศ และปุ๋ย เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อลักษณะของฟอร์มต้น ดอก และใบ หากเราสามารถดูแลได้อย่างเหมาะสม ต้นสับปะรดสีก็จะโชว์สีสันและลวดลายอันงดงามสะดุดตา พร้อมชูช่อออกดอกบานสะพรั่งได้อย่างยาวนาน

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

References

RECENT POSTS