7 สายพันธุ์ ไผ่ ไม้ประดับสวนและไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชน

ไผ่
สารบัญบทความ
ไผ่

หากพูดถึงต้นไม้ที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน หลายคนคงจะนึกถึง ต้นไผ่ พืชสารพัดประโยชน์ที่คนไทยสมัยก่อนนิยมนำมาใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย เป็นอาหาร หรือแม้กระทั่งยารักษาโรค

ไผ่กลายเป็นต้นไม้ที่เรามักพบเห็นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่น้อยเลย แต่คุณสงสัยไหมว่าต้นไผ่มีที่มาที่ไปอย่างไร? มีลักษณะและการเจริญเติบโตอย่างไร? แล้วไผ่ที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีสายพันธุ์ไหนบ้าง? วันนี้เราจะพาทุกคนมาไขข้อสงสัยเหล่านี้กัน อย่ารอช้า มาติดตามกันเลย

ไผ่ คืออะไร? ทำไมถึงนิยมปลูกในประเทศไทย

ไผ่ สายพันธุ์

ต้นไผ่ หรือ BAMBOO เป็นไม้พุ่มที่มีหลากหลายสายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพืชในอนุวงศ์ BAMBUSOIDEAE ของตระกูลหญ้าและข้าว (POACEAE) ส่วน ชื่อวิทยาศาสตร์ จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ คำว่า “ไผ่” ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามาจากที่ใด แต่คาดว่าอาจจะมาจาก ภาษาดัตช์หรือภาษาโปรตุเกส ซึ่งแต่เดิมยืมคำมาจากภาษามลายู หรือ ภาษากันนาดา(ภาษาที่พูดกันในภาคใต้ของอินเดีย)

ในปัจจุบันทั่วโลกมีไผ่อยู่ประมาณ 75 สกุล 1,250 สายพันธุ์ โดยในแถบร้อนของเอเชีย มีการกระจายพันธุ์ถึง 45 สกุล 750 สายพันธุ์ และพบในประเทศไทยได้ประมาณ 13 สกุล 60 สายพันธุ์ ซึ่งลำต้นของไผ่จะเป็นเส้นใยเดี่ยวมีความแข็งแรงมากและมีความต้านทานแรงดึงเช่นเดียวกับเหล็ก

ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นหลาย ๆ พื้นที่ในไทยนิยมนำไม้ไผ่มาใช้ตามงานก่อสร้างต่าง ๆ นอกจากนี้ไผ่ยังถูกจัดให้เป็นพืชที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก บางสายพันธุ์สามารถเติบโตได้ 1 เมตรใน 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและความทนทานต่อทุกสภาพดิน ทำให้ต้นไผ่กลายเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการปลูกป่า เพราะมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนและลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดี

นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีประโยชน์หลากหลายและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอันโดดเด่นในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นแหล่งอาหาร หรือแม้กระทั่งการนำมาใช้สร้างผลงานศิลปะ

โดยไม้ไผ่ก็เหมือนกับไม้จากธรรมชาติทั่วไปที่มีอัตราส่วนความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูง มีประโยชน์สำหรับการทำโครงสร้างต่าง ๆ เช่น ที่พักอาศัย โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น คนไทยจึงนิยมนำมาปลูก เพราะปลูกง่าย และมีวิธีดูแลไม่ยุ่งยาก อีกทั้งไม้ไผ่ยังเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถขาย และทำเป็นธุรกิจได้

ลักษณะทางกายภาพของไผ่

ไผ่ ลักษณะ

ไผ่ เป็นพืชที่มีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่น ลำต้นสูงตรง ผอมเรียว สามารถเติบโตได้สูงถึงประมาณ 30 เมตร ซึ่งแต่ละต้นมักขึ้นรวมกันเป็นกอขนาดใหญ่ ส่วนไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นจะแตกกอน้อย และมีลำต้นขนาดใหญ่ โดยมีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า (RHIZOME) ส่วนลักษณะของลำต้นที่อยู่เหนือดินค่อย ๆ เติบโตและสูงเรียวขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงปลายลำต้น

โดยลำต้นของต้นไผ่จะประกอบด้วยปล้องที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง และข้อที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนแข็ง มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5-20 เซนติเมตร แต่ปล้องที่อยู่บริเวณส่วนกลางของลำต้นมักมีความยาวมากกว่า ปล้องที่อยู่ตรงส่วนโคนหรือส่วนปลายของลำต้น และตามบริเวณข้อของลำต้นจะมีริ้วรอยของกาบใบที่หลุดร่วง

บางสายพันธุ์ข้อของลำต้นจะมีลักษณะโป่งพอง และอาจพบรากพิเศษเจริญออกมาบริเวณใกล้กับส่วนโคนของลำต้น ส่วนยอดอ่อนของไผ่เราเรียกยอดอ่อนนี้ว่า “หน่อไม้” มีลักษณะเป็นหน่อขึ้นอยู่เหนือพื้นดิน คนนิยมนำมาเป็นวัตถุดิบทำอาหาร เข่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น สำหรับ ใบไผ่ นั้นจะมีลักษณะเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวขึ้นเรียงสลับคล้ายใบหอก โคนมน ปลายเรียวแหลม ขอบใบสากมีขน บางสายพันธุ์จะเห็นดอกออกตามซอกใบชัดเจน แต่โดยทั่วไปจะไม่ค่อยออกดอกและผลให้เห็นเท่าไรนัก 

การเจริญเติบโตของไผ่

ไผ่ เป็นพืชที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีช่วงเวลาเติบโตเต็มที่แตกต่างกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของต้นไผ่จะขึ้นอยู่สภาพอากาศและสภาพดินที่ปลูกด้วย อย่างในมณฑลอันจี้ของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เมืองแห่งไผ่” มีสภาพอากาศและสภาพดินที่เหมาะสมในการปลูก เก็บเกี่ยว และแปรรูปไม้ไผ่ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

โดยทั่วไป ไผ่ จะเติบโตจนมีความสูงเต็มที่ในฤดูปลูกเดียว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยยอดใหม่แต่ละหน่อ จะเติบโตในแนวตั้งขึ้นเหนือพื้นดินโดยไม่มีการแตกแขนงออกไป แต่เมื่อโตเต็มวัยกิ่งจะขยายออกจากโหนดและแตกออก ในปีถัดมาผนังเยื่อของแต่ละหัวจะแข็งขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงปีที่สาม ปลายยอดจะแข็งขึ้นอีกและเป็นช่วงที่หน่อไม้เติบโตเต็มที่ เมื่อผ่านมาอีก 2-5 ปี

ไผ่บางสายพันธุ์จะเริ่มมีเชื้อรา ก่อตัวที่ด้านนอกของลำต้น จนในที่สุดเชื้อราก็อาจจะแทรกซึมเข้าครอบงำลำต้น และในอีกประมาณ 5-8 ปีข้างหน้า การเจริญเติบโตของเชื้อราจะทำให้ส่วนโคนยุบและสลายตัว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพอากาศด้วย เมื่อถึงตอนนั้นก็หมายความว่าไม้ไผ่พร้อมสำหรับการนำมาใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ได้แล้ว

7 สายพันธุ์ ไผ่ ที่นิยมปลูกในประเทศไทย

ไผ่ เรียกได้ว่าเป็นพืชที่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจและสังคมคนไทยในชนบทเป็นอย่างมาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทุกภาคของประเทศไทยจะมีต้นไผ่หลากหลายสายพันธุ์ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าคนไทยนำไผ่มาใช้ประโยชน์มากมาย จนทำให้ไผ่บางสายพันธุ์มีปริมาณที่น้อยลงหรือสูญหายไป

โดยทั่วไปไผ่ที่พบในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา บางสายพันธุ์ก็มีการนำเข้ามาปลูกจากต่างประเทศจนเป็นที่รู้จักกัน ซึ่งในประเทศไทยพบไผ่อยู่ 16 สกุล 85 สายพันธุ์ และนี่คือไผ่ 7 สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีดังนี้

ไผ่ซางหม่น
ไผ่ซางหม่น

1.ไผ่ซางหม่น

ไผ่ซางหม่น หรือ ไผ่ซางนวลราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrocalamus sericeus. เป็นหนึ่งในไผ่ที่คนไทยนิยมปลูกมากที่สุด ซึ่งมีลักษณะขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ 15-20 เมตร และเส้นรอบวงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียว ไม่มีหนามและไม่ค่อยมีแขนง ไผ่สายพันธุ์นี้จะมีคราบสีขาวหรือสีขาวหม่นบริเวณลำต้น เนื้อไม้แข็งแรง เนื้อหนา มีความทนทาน จึงเหมาะสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยส่วนใหญ่นิยมนำไปใช้ผลสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา เตียง ตะเกียบ เป็นต้น

2.ไผ่ข้าวหลาม

ไผ่ข้าวหลาม
ไผ่ข้าวหลาม

ไผ่ข้าวหลาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cephalostachyum pergracile Munro. จัดเป็นไผ่ขนาดกลาง ลำต้นมีลักษณะตรง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร ปล้องหรือข้อยาว 20-50 เซนติเมตร ลำต้นแก่เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเทา มีกาบสีหมากสุกหุ้มลำ หลุดออกง่าย และมีการแตกกิ่งขนาดเท่า ๆ รอบข้อ นับว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไผ่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากลำต้นที่มีอายุประมาณ 6-10 เดือน สามารถนำไปใช้ทำกระบอกข้าวหลามได้ เพราะมีเนื้อเหยื่อที่เหมาะกับการทำข้าวหลาม นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการรสร้างบ้านเรือน โดยเฉพาะการนำไปสานเป็นฝาหรือเพดาน หรือจะนำไปสานเป็นเสื่อไว้นั่งกินข้าวก็ได้

ไผ่ยักษ์
ไผ่ยักษ์

3.ไผ่ยักษ์

ไผ่ยักษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrocalamus giganteus. เป็นไผ่ลำขนาดใหญ่ เนื้อไม้หนา มีลักษณะเป็นลำตรงเรียว เมื่อโตเต็มที่ไผ่สายพันธุ์นี้จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8-10 นิ้ว และมีความสูงประมาณ 25-35 เมตร โดยแต่ละลำต้นจะมีน้ำหนักประมาณ 150-250 กิโลกรัม สีน้ำตาลออกเขียว ๆ ไผ่ยักษ์ขึ้นชื่อว่าเป็นไผ่ที่มีเนื้อหนาที่สุดในบรรดาไผ่ ในประเทศไทยทุกสายพันธุ์ โดยโคนต้นจะมีความหนาข้างละ 3 นิ้ว และยาวไปสุดปลายลำ โดยทั่วไปไผ่สายพันธุ์นี้จะนิยมนำไปใช้ทำศาลาไม้ไผ่สำเร็จรูป ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง มีราคาแพง เพราะเนื้อไม้แตกยาก มีความทนทาน สามารถนำไม้กลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ทำแพ ทำฝาบ้าน ทำเสารีสอร์ทเพิ่มมูลค่าได้ หน่อมีขนาดใหญ่มาก สามารถนำไปทำอาหารได้ทุกชนิด

ไผ่เลี้ยง ไผ่สร้างไพร
ไผ่เลี้ยง

4.ไผ่เลี้ยง หรือ ไผ่สร้างไพร

ไผ่เลี้ยง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa multiplex. หรือที่หลายคนเรียกว่าไผ่สร้างไพร เป็นสายพันธุ์ที่ กอไผ่ มีขนาดใหญ่แต่ดูโปร่งไม่รก กิ่งแขนงด้านล่างไม่มี ลำไม้ไผ่สวย สูงเรียวยาวประมาณ 2-5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 3-5 เซนติเมตร และปล้องยาว 20-40 เซนติเมตร ลำต้นกลมและเกลี้ยงมีสีเขียวเป็นมันและมีขนสีขาวนวลอยู่ตามข้อ ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ทำบรรได โรงเรือน นั่งร้าน รั้วบ้านรั้วสวน หรือคอกสัตว์ต่าง ๆ เหมาะสำหรับการปลูก เพื่อขายลำไม้ เพราะให้ผลผลิตจำนวนมาก

ไผ่รวก
ไผ่รวก

5.ไผ่รวก

ไผ่รวก,ไผ่ฮวก ชื่อวิทยาศาสตร์ Thyrsostachys Siamensis Gamble. เป็นไผ่สายพันธุ์ที่ขึ้นเป็นกอแน่น แต่ละต้นมีลำต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 7-15 เมตร ในเขตร้อนชื้นลำต้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร แต่พบในที่แห้งแล้งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวอมเทา เนื้อไม้หนาแน่น ทนทาน และแข็งแรง เหมาะสำหรับการนำไปใช้ทำของตกแต่งบ้าน ทำเครื่องอุปโภค ทำรั้ว ทำคันเบ็ด ทำเครื่องจักสาน เป็นต้น

ไผ่บงหวาน
ไผ่บงหวาน

6.ไผ่บงหวาน

ไผ่บงหวาน,ไผ่หวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrocalamus latiflorus. เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงกลางที่มักขึ้นเป็นกอพุ่มแน่น มีความสูงประมาณ 5-8 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 3-5 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ลักษณะลำมักคดงอ มีการแตกกิ่งจำนวน 2-5 กิ่งตลอดลำ ไผ่สายพันธุ์นี้จะสังเกตง่าย ๆ คือ ครีบกาบหุ้มลำ จะมีขนาดและรูปร่างที่ไม่เท่ากัน ทั้งสองข้าง มีแถบวงแหวนสีขาวอยู่เหนือข้อเล็กน้อย และมักพบรากอากาศอยู่รอบ ๆ ข้อ จุดเด่นของไผ่สายพันธุ์นี้ คือ หน่อไม้หนักประมาณ 200-300 กรัม มีรสชาติไม่ขม สามารถกินดิบเหมือนผักสดทั่วไปได้ หรือจะนำไปต้มในเดือดก็อร่อยไปอีกแบบ

ไผ่ตง
ไผ่ตง

7.ไผ่ตง

ไผ่ตง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrocalamus asper (Schultes f.) Backer ex Heyne. เป็นไผ่ที่มีกอขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20–30 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางลำ 10–20 เซนติเมตร ลำขึ้นเรียวตรงอัดกันเป็นกอค่อนข้างแน่น ปลายลำโค้งถึงห้อยลง ลำมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเทา ปล้องล่างมีขนปกคลุมหนาแน่น มีการแตกกิ่งต่ำหรือตั้งแต่กลางลำต้นขึ้นไป และมักมีรากอากาศขึ้นตามข้อ มีจุดเด่นเรื่องหน่อโต มีคุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง 30-50 กิโลกรัม/กอ/ปี สามารถนำหน่อไม้ไปแปรรูปอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งต้ม แกง ซุป หมก ผัด รวมทั้งแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง จึงเป็นไผ่ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงใช้ได้เลยทีเดียว

บทสรุป

ไผ่ถือเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้สารพัดประโยชน์ที่อยู่คู่มนุษย์เรามาแต่อดีตกาล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเติมประดับประดาสวน การทำเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องดนตรี การใช้ในงานก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งอาหาร และอื่นๆอีกมาก จะเห็นได้ว่าไผ่มีประโยชน์ในแทบทุกส่วน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่หากจะไม่ปลูกไผ่ไว้ซักต้นในสวนหลังบ้าน…ว่าแล้วก็เริ่มหาไผ่มาปลูกกันดีกว่า

References

  • HOME.KAPOOK.COM/VIEW44632.HTML
  • WWW.BAMBOOFARM.ORG/ABOUT-BAMBOO/
  • TH.M.WIKIPEDIA.ORG/WIKI/ไผ่
  • M.FACEBOOK.COM/PERMALINK.PHP?STORY_FBID=2222382448023170&ID=1896304193964332

บทความน่าสนใจอื่นๆ

RECENT POSTS